เมื่อวันที่ 18 ก.ย.ที่รัฐสภา นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เปิดเผยว่าในการประชุมสส.พรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่  17 ก.ย. ได้พูดคุยถึงการยื่นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เป็นรายมาตรา และขณะนี้ได้เปิดให้ สส.ของพรรคร่วมลงชื่อเพื่อเสนอต่อนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาในช่วงสัปดาห์หน้า ส่วนจะทันนำเข้าที่ประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 25 ก.ย. หรือไม่ต้องพิจารณาอีกครั้ง อย่างไรก็ดีจากที่การหารือกับวิป 3 ฝ่ายไปก่อนหน้านี้ถึงการกำหนดการประชุมร่วมรัฐสภาวันที่ 25 ก.ย. ขณะนี้มีความเป็นไปได้ว่าจะเลื่อนการประชุมรัฐสภา เนื่องจากการกำหนดนัดอย่างเป็นทางการยังไม่ได้หารือกับวุฒิสภา ทั้งนี้ในความชัดเจนของการประชุมร่วมรัฐสภาสัปดาห์หน้าว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ จะขอยืนยันอีกครั้งในวันที่ 19 ก.ย.นี้ 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการประชุมสส.พรรคเพื่อไทย นั้นได้แจ้งรายละเอียดถึงการยื่นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิมเติมเป็นรายมาตรา โดยแบ่งเป็น 6 ประเด็น ได้แก่ 

1.แก้ไขมาตรา 98 (7) ว่าด้วยการกำหนดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น สส. ซึ่งห้ามบุคคลที่ต้องโทษจำคุกโดยพ้นโทษไม่ถึง 10 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดที่ทำโดยประมาทหรือลหุโทษ ให้รวมถึงความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วย 

2. แก้ไขมาตรา 160 ว่าด้วยคุณสมบัติของรัฐมนตรี ใน 3 ประเด็น คือ  (4) ว่าด้วยมีความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์ โดยแก้ไขให้เป็น  “ไม่มีพฤติกรรมหรือการกระทำที่ประจักษ์ว่า ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต” โดยกำหนดให้ใช้บังคับตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขบังคับใช้  (5) ไม่มีพฤติกรรมที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง โดยแก้ไขให้ชัดเจนว่า  ต้องเป็นคดีที่อยู่ระหว่างการดำเนินการในศาลฎีกา 

และ (7)  ว่าด้วยไม่ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอลงโทษ เว้นแต่ทำผิดโดยประมาท ความผิดลหุโทษหรือ ความผิดฐานหมิ่นประมาท แก้ไขให้นำกรณีดังกล่าวเป็นเหตุความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 170 แทน

3.แก้ไขกลุ่มมาตราที่เกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริตและจริยธรรมที่กำหนดเป็นคุณสมบัติของรัฐมนตรี คือ มาตรา 201 มาตรา202 มาตรา 222 มาตรา 228 มาตรา 232 มาตรา 238 และ มาตรา246 

4. แก้ไข มาตรา 211  ว่าด้วยมติของศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยคดีต่างๆ ที่กำหนดให้ถือเสียงข้างมาก แก้ไขโดยกำหนดเงื่อนไข กรณีเป็นคำวินิจฉัยให้สมาชิกภาพ สส.-สว. สิ้นสุดลง หรือความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว และการวินิจฉัยว่ามีการฝ่าฝืนตามมาตรา 144 ให้ใช้เสียง 2 ใน 3 ของตุลาการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ และแก้ไขเรื่องคำวินิจฉัยที่ผูกพันกับทุกองค์กรนั้นให้เฉพาะคำวินิจฉัยที่เป็นประเด็นหลักโดยตรงของเรื่องที่วินิจฉัยเท่านั้นที่จะผูกพัน

5. แก้ไข  235  ว่าด้วยอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่เกี่ยวกับการพิจารณาคดีของสส. ซึ่งต้องส่งให้ศาลฎีกาในประเด็นมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ  ที่กำหนดให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งโดยไม่มีกำหนดเวลา และเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งอีกไม่เกิน 10 ปี โดยแก้ไขระยะเวลา การเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง 5 แต่ไม่มีการเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง 

6. แก้ไข มาตรา 255ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรรมนูญ  ซึ่งเติมความเป็นวรรคสอง ให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับฉบับใหม่สามารถทำได้  

และแก้ไขมาตรา 256 (8) กำหนดรายละเอียดของบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ต้องผ่านการออกเสียงประชามติ คือ แก้ไขเพิ่มเติมหมวด1 บททั่วไป หมวด2 พระมหากษัตริย์ และการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เท่านั้น ซึ่งได้ตัดเงื่อนไข ในประเด็นการแก้ไขเกี่ยวกับคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่วกับหน้าที่หรืออำนาจของศาลหรือองค์กรอิสระ หรือ เรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติหน้าที่หรืออำนาจนั้นได้ออก.