ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) นัดที่สอง ภายใต้การนำของ “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีผ่านพ้นไปแล้ว ก่อนหน้านี้มีข่าวว่า วาระสำคัญที่จะมีการพิจารณาคือการแต่งตั้งข้าราชการการเมือง ซึ่งเลขาธิการนายกฯลงนามในเอกสารไปแล้วในบางตำแหน่ง เพื่อเตรียมเสนอครม.พิจารณานั้น ได้ถูกส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เพื่อบรรจุเป็นวาระพิจารณาจรแต่ปรากฏว่าที่ประชุมครม.ไม่ได้หยิบยกขึ้นมาพิจารณา เนื่องจากสลค.ได้ขอให้ตรวจสอบประวัติอย่างรอบด้าน จากเดิมที่เคยตรวจสอบ ให้มีความละเอียดมากยิ่งขึ้นก่อนจะเสนอพิจารณาในโอกาสต่อไป

ซึ่งถือเป็นครั้งแรก ที่มีการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ที่ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ทำอย่างเข้มข้นมากขึ้น เดิมจะตรวจเฉพาะแค่ประวัติอาชญากรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.)และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)แต่ครั้งนี้เพิ่มการตรวจสอบจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง กรมบังคับคดีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.)คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กรมพัฒนาธุรกิจการค้าคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจหน่วยงานของรัฐ องค์การมหาชน สำนักงานที่เป็นทั้งนิติและเป็นนิติบุคคลของผู้ที่ได้รับการเสนอแต่งตั้งเคยสังกัด

นั่นหมายความว่า รัฐบาลน.ส.แพทองธาร ให้ความสำคัญกับการตรวจสอบคุณสมบัติบุคคลที่เข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมือง นอกจากตรวจเข้มการเข้ามาทำหน้าที่ของรัฐมนตรี เพื่อป้องกันไม่ให้มีบรรดานักร้องอาศัยช่องทางกฎหมาย ยื่นร้องตรวจสอบหัวหน้ารัฐบาล ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาในอนาคตเพราะมาถึงวันนี้บรรดานักร้อง ได้ยื่นเรื่องตรวจสอบหัวหน้ารัฐบาล เกินกว่า 10 เรื่องไปแล้ว แม้บางเรื่องคนจะมองว่าไร้สาระ แต่ก็คงประมาทไม่ได้ เพราะข้อกฎหมายและรัฐธรรมนูญ( รธน.)หากศึกษาไม่ดี ย่อมเกิดข้อผิดพลาดได้

ส่วนประเด็นการแก้ไขรธน.นั้น “นายชูศักดิ์ ศิรินิล” รมต.ประจำสำนักนายกฯ กล่าวถึงความคืบหน้าในการยกร่างแก้ไขรธน.รายมาตรา เกี่ยวกับประเด็นจริยธรรมและความซื่อสัตย์สุจริตว่ามีทั้งหมด 4-5 มาตรา จะกำหนดกรอบกฎหมายให้มีความชัดเจน ไม่ต้องตีความอะไรมาก โดยแต่ละพรรคต่างคนต่างยื่นร่างเข้าสภาฯ หากใครถูกร้องหรือระหว่างถูกฟ้องในชั้นศาลรธน.ว่าฝ่าฝืนจริยธรรม จะทำให้การตีความชัดเจนขึ้นหากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช. ) รับเรื่องร้องเรียนถือว่ายังไม่มีความผิด เพราะไม่เช่นนั้นคนที่ถูกร้องได้รับผลกระทบและจบเลย

เมื่อถามอีกว่าการที่จะพิจารณาว่าใครเข้าข่ายขัดจริยธรรม หรือไม่ซื่อสัตย์สุจริตนั้น นายชูศักดิ์ กล่าวว่า อยากให้ศาลรธน.เป็นผู้ชี้ชัด โดยไม่ใช่เป็นการสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ โดย ป.ป.ช. หรือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพราะการชี้มูลนี้ ก็ยังไม่ฟันธงว่าเป็นเรื่องถูกหรือผิดซึ่งเราไม่ได้ประโยชน์ และระมัดระวังไม่ให้เป็นการแก้ เพื่อประโยชน์ตนเอง ทั้งนี้พรรคพท.จึงขอแก้แค่พอดี ๆ ให้มีเกณฑ์มาตรฐานรับได้ ไม่ใช่ยกเลิกทั้งหมดทำให้การปฏิบัติหน้าที่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ป้องกันไม่ให้การบริหารประเทศลำบากเพื่อให้บ้านเมืองมีกฎหมาย ที่เป็นยุติธรรมมากขึ้น

เมื่อถามว่าการแก้ไขประเด็นเสียงข้างมากของรธน.ในการลงมติเรื่องสำคัญ เช่น การยุบพรรคหรือเอาคนออกจากตำแหน่ง จะต้องใช้เสียงข้างมากเด็ดขาด แทนการใช้มติเสียงข้างมากธรรมดา นายชูศักดิ์ กล่าวว่าจะเป็นการแก้ไขรธน.รายมาตราเช่นกัน ยกตัวอย่างกรณีของ นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกฯที่พ้นจากตำแหน่งด้วยมติ 5-4 เสียง เรื่องใหญ่แบบนี้ควรหรือไม่ จึงมีแนวความคิดว่าให้มติมากขึ้นดีหรือไม่ซึ่งประเด็นเสียงข้างมากของรธน.ในการลงมติเรื่องสำคัญ กับเรื่องจริยธรรม เราจะทำไปพร้อมกันโดยการการยื่นไขทำในนามพรรคการเมือง

ต้องถือเป็นลดอำนาจองค์กรอิสระอย่าง ป.ป.ช. หรือ กกต. ไม่ให้มีอำนาจสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ เพราะการชี้มูลยังไม่ฟันธงว่าเป็นเรื่องถูกผิด ควรให้ศาลรธน.พิจารณาใครเข้าข่ายขัดจริยธรรมไม่เช่นนั้นคนที่ถูกร้องได้รับผลกระทบและจบเลยรวมทั้งการแก้ไขประเด็นเสียงข้างมากของศาลรธน.ในการลงมติเรื่องสำคัญ เช่น การยุบพรรคหรือเอาคนออกจากตำแหน่ง จะต้องใช้เสียงข้างมากเด็ดขาด แทนการใช้มติเสียงข้างมากธรรมดา

ขณะที่ท่าทีแกนนำพรรคฝ่ายค้าน “นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล “ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน( ปชน. ) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน( วิปฝ่ายค้าน)ยอมรับว่าพรรคได้ยื่นร่างแก้ไขรายมาตรา กลุ่มประเด็นว่าด้วยจริยธรรมทั้งระบบ ต่อ “นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา” ประธานรัฐสภาแล้ว รวมถึงการใช้อำนาจขององค์กรอิสระที่ตัดสินผู้ดำรงตำแหน่งทางเมืองที่เป็นนามธรรมมากเกินไป ทั้งนี้ในประเด็นที่แก้ไขกับอำนาจองค์กรอิสระตามเงื่อนไขต้องทำประชามติ ซึ่งอาจเป็นการทำประชามติ พร้อมกับการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ. ) เมื่อถามว่าบางประเด็นการแก้ไขจริยธรรมนั้นพรรคพท.ไม่เห็นด้วยเนื่องจากอาจเข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อน นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า หากจะมองแบบนั้นการแก้ประเด็นอื่นๆ ก็อาจถูกโยง เป็นผลประโยชน์ทับซ้อนได้ทั้งสิ้น และสส.จะแก้อะไรไม่ได้ อย่างไรก็ดีในประเด็นที่ไม่เห็นตรงกันนั้นรายละเอียดอาจนำไปพูดคุยในชั้นกรรมาธิการ(กมธ.)เพื่อหาจุดลงตัวได้

เชื่อว่าการยื่นแก้ไขรธน.ของพรรคแกนนำรัฐบาลและฝ่ายค้านอาจมีบรรดานักเคลื่อนไหวและและนักร้องไปยื่นให้ตรวจสอบ เพราะ อาจเข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อนเกี่ยวข้องกับการตรวจสอบและการใช้อำนาจขององค์กรอิสระและศาลรธน.

ส่วนประเด็นคลิปลับเสียง”ลุงคนดัง”ที่เผยแพร่ในสื่อรัฐและกลายเป็นประเด็นข่าวฮือฮาในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดย” นายไพบูลย์ นิติตะวัน “เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ( พปชร.) ได้ออกมากล่าวถึง กล่าวถึงการยื่นฟ้องนายดนัย เอกมหาสวัสดิ์ ผู้ดำเนินรายการเจาะลึกทั่วไทยอินไซค์ ไทยแลนด์ว่า ได้ยื่นฟ้อง 3 คดี ได้แก่ 1.คดีอาญาในเรื่องการดักฟัง 2.คดีอาญา ข้อหาหมิ่นประมาททำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง และ 3.คดีแพ่ง เรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาท โดยให้ทนายความ ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อนายดนัย และรักษาการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท. รวมถึงบริษัท อสมท. กรณีใช้คลิปดักฟัง ซึ่งได้ยื่นต่อสถานีตำรวจเรียบร้อยแล้ว 

ส่วนการฟ้องหมิ่นประมาทที่ศาลอาญาอยู่ระหว่างยกคำฟ้อง เข้าใจว่าจะเสร็จในสัปดาห์หน้า เมื่อถามว่า เรื่องการดักฟังมีการตรวจสอบแล้วหรือยังว่าเป็นฝีมือใคร นายไพบูลย์ กล่าวว่า  “ไปถามคุณดนัยก็แล้วกัน ทั้งนี้ ผมกำลังสืบอยู่ว่าเป็นฝีมือใคร แต่ดูแล้วก็พอรู้”

เมื่อถามว่า ที่ยื่นฟ้องเพราะจะได้ให้ศาลซักว่าได้คลิปมาจากใครใช่หรือไม่ นายไพบูลย์ กล่าวว่า ไม่ใช่ แต่เนื่องจากเรื่องการดักฟังนั้น ในประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยฯ ฉบับที่ 21 ถือว่าเป็นความผิดต่อรัฐ ต้องไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน และยืนยันว่ารัฐบาลชุดใหม่ ยังไม่ยกเลิกประกาศดังกล่าว จึงยังมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย ดังนั้นขอให้รอติดตามทั้งหมด 3 คดี เมื่อถามว่า การฟ้องครั้งนี้ ทำเพราะคำสั่งของผู้ใหญ่ใช่หรือไม่ นายไพบูลย์ กล่าวว่าเป็นการใช้สิทธิของตัวเอง 

ต้องรอดูว่า นายไพบูลย์ จะออกมาเปิดเผยภายหลังหรือไม่ ว่า ใครเป็นคนดักฟังเสียงโทรศัพท์ หรืออัดเสียงแล้วนำเปิดเผยผ่านสื่อมวลชน เพราะเรื่องนี้กระทบกับภาพลักษณ์ของพปชร.และกลายเป็นวิบากกรรมซ้ำเติม หลังต้องตกเป็นพรรคฝ่ายค้าน พรรคยังแตกออกเป็นสองเสี่ยงโดยสส.กลุ่ม”ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า “ อดีตเลขาธิการพรรคพปชร. ก็นำทีมสส. 20 คนแยกตัวออกไปสนับสนุนรัฐบาลน.ส.แพทองธาร ชินวัตร

ขณะที่ความเคลื่อนไหวของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ซึ่งวันที่ 17 ก.ย. ที่ผ่านมา ถือเป็นวันสุดท้ายที่เปิดโอกาสให้สว.ได้เลือกแบบสมัครใจใครจะอยู่ในคณะกมธ. สามัญประจำวุฒิสภาทั้ง 21 คณะ ปรากฏว่า ส่วนใหญ่การเลือกจบลงด้วยดีไม่มีความขัดแย้ง โดยมีวางตัวประธานกมธ.ไว้ลงตัวแล้ว 20 คณะจาก 21 คณะโดยสว.กลุ่มสีน้ำเงินได้รับการวางตัวเป็นประธานกมธ.เหลือเพียงคณะเดียวที่ยังตกลงกันไม่ได้

โดย กมธ.ที่สู้กันดุเดือดในการเลือกครั้งนี้คือ คณะพัฒนาการเมืองการมีส่วนร่วมของประชาชนฯ มีผู้สมัครมากที่สุดในจำนวน กมธ.21 คณะ คือ 23 คน มีการเกณฑ์คนกันมาเพื่อต้องการให้ฝ่ายตรงข้ามพ่ายแพ้ มีการชิงไหวชิงพริบกันดุเดือดกว่ากมธ.คณะอื่นๆ สุดท้ายตกลงกันไม่ได้เพราะต้องเลือกให้เหลือเพียง 18 คนตามข้อบังคับ ทั้งนี้ ทำให้ผู้สมัครทั้ง 23 คนต้องมาลงคะแนนเลือกกันเองใครได้คะแนนต่ำต้องถูกคัดออก ผลปรากฏว่า สว.กลุ่มอิสระ 5 คน รวมถึง น.ส.นันทนา นันทวโรภาส ได้ 10 คะแนนต้องออกจากกมธ. ทำให้สว.กลุ่มสีน้ำเงิน และสว.กลุ่มอิสระมีคะแนนเท่ากันฝ่ายละ 9 คน จึงยังไม่มีการวางตัวประธานกมธ.ได้ในครั้งนี้ ต่างจากคณะอื่นที่วางตัวไว้ครบหมดแล้ว จึงต้องไปเลือกใหม่ในครั้งต่อไป

อย่างไรก็ตาม สว.กลุ่มสีน้ำเงินหนุน”นายนิฟาริด ระเด่นอาหมัด” เป็นประธานกมธ. ขณะที่กลุ่มสว.อิสระหนุน “นางอังคณา นีละไพจิตร” เป็นประธานกมธ.ฯดังนั้นการประชุมครั้งหน้าต้องเลือกสว.ที่อาวุโสมากที่สุดมาเป็นประธานชั่วคราว ปรากฏว่า นายนายนิฟาริดอายุ 69 ปีถือว่ามากที่สุด ถ้าลงคะแนนกันใหม่หากคะแนนเท่ากันประธานชั่วคราวสามารถใช้สิทธิออกเสียงชี้ขาดได้อีก 1 คะแนน จึงต้องจับตามองว่านายนิฟาริดจะลงคะแนนเลือกตัวเองเป็นประธานหรือไม่

ต้องรอดูว่า ในที่สุดประธานคณะกมธ.สามัญประจำวุฒิสภาทั้ง 21 คณะ จะตกเป็นของสว. สายสีน้ำเงินทั้งหมดหรือไม่ ต้องรอลุ้นกัน

“ทีมข่าวการเมือง”