เมื่อวันที่ 17 ก.ย. ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติ มณฑาทิพย์ ฮอลล์ ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย มอบหมายให้นายราชันย์ ซุ้นหั้ว รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาชุมชนและส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นประธานเปิดการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” และงานหัตถกรรม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมี นายสยาม ศิริมงคล อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางอรจิรา ศิริมงคล ประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี นางนงรัตน์ คงเกษม ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดอุดรธานี นางคณิตา ราษฎร์นุ้ย รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี นายวิฑูรย์ นวลนุกูล นายวรงค์ แสงเมือง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางวาสนา นวลนุกูล รองประธานชมรมแม่บ้าน พัฒนาชุมชน หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ และภาคีเครือข่าย ร่วมพิธี

การประกวดในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ดร.ศรินดา จามรมาน นักวิชาการอิสระด้านการจัดการความรู้และสื่อสารการศึกษา คุณธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยและผู้เชี่ยวชาญการย้อมสีธรรมชาติ คุณศิริชัย ทหรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยเจ้าของแบรนด์ THEATRE คุณภูภวิศ กฤตพลนารา นักออกแบบเจ้าของแบรนด์ ISSUE ผศ.ดร.อนุชา ทีรคานนท์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คุณนุวัฒน์ พรมจันทึก ช่างต้นแบบสิ่งทอ กรมหม่อนไหม ดร.กรกลด คำสุข รองคณบดีฝ่ายวิชาการและรักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักวิชาการสร้างสรรค์ และ ผศ.ดร.รวิเทพ มุสิกะปาน อาจารย์ประจำสูตรหลักสูตรแฟชั่นสิ่งทอและเครื่องตกแต่ง วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ คุณมีชัย แต้สุจริยา ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ทอผ้า) ปี พ.ศ.2564 คุณธนาวุฒิ ธนสารวิมล นักออกแบบเจ้าของแบรนด์ TandT คุณอารยา อินทรา ที่ปรึกษาด้านแฟชั่น อาจารย์พิเศษด้านแฟชั่น และสไตลิสต์ ผศ.ดร ธีระยุทธ์ เพ็งชัย รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ผศ.ดร.กิตติ์ธนัตถ์ ญาณพิสิษฐ์ ผู้อำนวยศูนย์ความเป็นเลิศด้านสิ่งทอพื้นเมืองแพรวากาฬสินธุ์ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสิน

นายราชันย์ ซุ้นหั้ว รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยโดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้สนองงานตามแนวพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทั้งพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” และ “Sustainable Fashion” จนทำให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน ทำให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีรายได้จากการได้ใช้ภูมิปัญญา สืบสานและรักษานับเนื่องแต่บรรพบุรุษ มาสร้างโอกาสขยายผลต่อยอดโดยมีแนวพระดำริเป็นหลักชัยให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ ต้องมีการถ่ายทอดความรู้และภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่น โดยการให้ความสำคัญ กับการถ่ายทอดสู่เด็กและเยาวชน ทั้งการตระหนักถึงความหลากหลายทางเพศ โดยให้เราชาวมหาดไทยเป็น “โซ่ข้อกลาง” ในการคุยกับคนในพื้นที่ ภายใต้องค์ความรู้ต่าง ๆ อันก่อให้เกิดรายได้ให้กับประชาชนทุกถิ่นที่อย่างมหาศาล

“สำหรับ “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” เป็นผ้าลายพระราชทานที่พระองค์ท่านทรงนำมาออกแบบเนื่องในปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 มีจำนวน 4 ลาย ได้แก่ 1) ลายวชิรภักดิ์ ที่ได้รับแรงบันดาลพระทัยจากอักษร “ว” ซึ่งเป็นอักษรพระปรมาภิไธย ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีความหมายว่า พสกนิกรคนไทยได้รับพระปกเกล้าปกกระหม่อม ให้ร่มเย็นเป็นสุข 2) ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ 2567 ต่อยอดจากภาพพระราชทานครั้งแรก 3) ลายหัวใจ ที่สื่อถึงความรักความห่วงใยและความภักดี ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ 4) ลายดอกรักราษฎร์ภักดี ที่ส่งต่อยอดจากผ้าลายดอกรักราชกัญญา ซึ่งพระองค์ท่านทรงตอกย้ำ “ฝังชิป” ให้พวกเรา โดยเฉพาะข้าราชการกระทรวงมหาดไทย และกรมการพัฒนาชุมชน ที่ทำให้เห็น “Story” สะท้อนที่มา ที่ไป และความตั้งใจ นับเป็นพระกรุณาคุณที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานแนวทางให้กับคนไทยทุกคนเพื่อแสดงถึงความจงรักภักดีของคนไทยที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” นายราชันย์ กล่าวเพิ่มเติม

นายราชันย์ กล่าวเน้นย้ำว่า จากจำนวนผ้าและงานหัตถกรรมที่ส่งเข้าประกวด ปี 2567 ทั่วประเทศ มีจำนวนรวม 8,651 ชิ้นงาน จำแนกเป็น ประเภทผ้า 8,117 ผืน หัตถกรรม 534 ชิ้น ซึ่งต้องขอชื่นชมพี่น้องช่างทอผ้าและผู้ประกอบการพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลงานเข้าประกวดจำนวนมากถึง 4,816 ชิ้นงาน โดยเป็นประเภทผ้า 4,711 ผืน และหัตถกรรม 105 ชิ้น เป็นภาคที่มีการส่งผลงานมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของประเทศ สะท้อนถึงความมุ่งมั่นตั้งใจ ในการน้อมนำพระดำริสู่การต่อยอดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดรับกับแฟชั่นนิยม ตลอดจนยังมีการถ่ายทอดภูมิปัญญาองค์ความรู้ กระทั่งมีเจ้าของผลงานเป็นเด็กและเยาวชนในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ทั้ง 20 จังหวัดส่งผลงานเข้าประกวดเป็นจำนวนมาก อันมีนัยสำคัญว่า พี่น้องประชาชนพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นผู้ดวงตาเห็นธรรมในการน้อมนำพระดำริสู่การปฏิบัติ เพื่อทำให้ตนเองและครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

“การประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” เป็นการน้อมนำแนวพระดำริในการสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ผลิตผ้าได้ทุ่มเทกำลังและความคิด เพื่อนำลายผ้าพระราชทานมาออกแบบควบคู่กับลวดลายดั้งเดิมและลวดลายที่เกิดจากการสร้างสรรค์ชิ้นงานจากวิธีคิดและจินตนาการอันสร้างสรรค์ของผู้ประกอบการและช่างทอผ้าทุกประเภท จึงอยากขอให้ทุกคนช่วยกันรักษาระดับคุณภาพและต่อยอดให้ดียิ่งขึ้น และคาดหวังให้ผลงานของผู้ผลิตลายผ้าและงานหัตถกรรมไทยได้เป็นที่ยอมรับในตลาดโลก” นายราชันย์ ในช่วงท้าย

นายสยาม ศิริมงคล อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชน ดำเนินการจัดประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” และงานหัตถกรรม จำนวน 14 ประเภท ตามโครงการส่งเสริมภูมิปัญญา และพัฒนาศักยภาพผ้าไทยและงานหัตถกรรม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาผ้าไทยและงานหัตถกรรมให้มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับ และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ้าไทยและงานหัตถกรรม ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ซึ่งการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” และงานหัตถกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครั้งนี้ ถือเป็นการประกวดระดับภาคจุดดำเนินการสุดท้าย ก่อนที่จะเข้าสู่รอบตัดสินระดับภาค (Quarter final) ในวันที่ 21 กันยายน 2567 รวมทั้งการประกวดระดับประเทศ รอบรองชนะเลิศ (Semi Final) ในวันที่ 23 กันยายน 2567 ที่จะถึงนี้โดยจะคัดเลือกผ้าให้คงเหลือไม่น้อยกว่า 50 ผืน และงานหัตถกรรม ตามชิ้นงานที่เหมาะสม เพื่อเข้าประกวดในรอบตัดสินระดับประเทศ (Final) โดยมีสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จเป็นองค์ประธานในการตัดสิน ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี