จากกรณีแม่โพสต์เป็นอุทาหรณ์ หลังลูกน้อยวัย 7 เดือน ร้องกลั้นแค่ 30 วินาทีครั้งเดียว สุดท้ายเสียชีวิต เตือนคุณแม่ที่เลี้ยงลูกอ่อนลำพัง ให้สังเกตอาการผิดปกติ โดยเฉพาะการร้องกลั้นของเด็ก หากลูกเริ่มร้องกลั้น ต้องหาวิธีเบี่ยงเบนความสนใจ ตามที่ข่าวเสนอไปก่อนหน้านี้

แม่ช็อกลูก7เดือนร้องกลั้นแค่30วินาที ครั้งเดียวสุดท้ายเสียชีวิต

เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมการแพทย์ “โดยสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี” ได้แนะคุณพ่อคุณแม่ควรตั้งสติ เบี่ยงเบนความสนใจและไม่ตามใจ เพื่อเป็นเงื่อนไขในการต่อรอง เพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการเมื่อลูกร้องไห้กลั้นหายใจ

โดย นายแพทย์ วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า การร้องกลั้นเป็นภาวะที่เด็กมีอาการกลั้นหายใจ ขณะหายใจออกเป็นชั่วขณะหนึ่ง ทำให้ออกซิเจนเข้าไปหล่อเลี้ยงในสมองไม่เพียงพอ จนทำให้หน้าเขียวและเกือบเสียชีวิตได้ ซึ่งทางการแพทย์เรียกว่า “breath-holding spells” อาการนี้จะเกิดขึ้นกับเด็กแรกเกิดถึงเด็กโต เมื่อเด็กเริ่มรู้จักแสดงอารมณ์ได้แล้ว โดยเฉพาะเวลาถูกขัดใจ พบได้ตั้งแต่ช่วงเด็กเล็ก 6 เดือน-6 ขวบ อายุที่พบมากประมาณ 2 ขวบ หรือเมื่อเด็กเริ่มรู้จักแสดงอารมณ์ได้

นอกจากนี้ นายแพทย์ อัครฐาน จิตนุยานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวเพิ่มเติมว่า โดย อาการร้องกลั้นนานประมาณ 1-2 นาที และหลังจากที่อาการเด็กตื่นรู้ตัวภายใน 1 นาที ซึ่งมี 2 ลักษณะ คือ แบบกลั้นเขียว 85% มักสัมพันธ์กับการโกรธ ไม่ได้ดั่งใจ กับแบบกลั้นซีด อาจเกิดจากความเจ็บปวด เป็นต้น สาเหตุที่ทำให้ลูกร้องกลั้นนั้น เกิดจากการที่เจ้าตัวเล็กร้องไห้อย่างรุนแรงด้วยความโกรธหรือถูกขัดใจ

คุณพ่อคุณแม่ควรปฏิบัติดังนี้ อย่าปล่อยให้ลูกโกรธจนสุด ควรพยายามหาวิธีเบี่ยงเบนความสนใจของลูกไปหาสิ่งอื่น หากลูกร้องกลั้นให้กอดลูกไว้ ไม่ว่าหรือควรเขย่าตัวลูกหรือตบหน้าเพื่อให้ลูกหยุดร้อง สำรวจดูว่ามีบางสิ่งในปากขณะที่ร้องกลั้นหรือไม่ หากมีให้รีบหยิบออก เพราะอาจทำให้ลูกสำลักหรือติดคอจนทำให้เกิดอันตรายได้ คุณพ่อคุณแม่ควรตั้งสติ อย่าแสดงอาการตื่นตกใจเวลาที่ลูกร้องกลั้น เพราะอาจทำให้ลูกตกใจมากขึ้น บางครั้งการวางผ้าเปียกหรือเย็นบนหน้าเด็ก (ไม่ปิดทางเดินหายใจ) อาจทำให้อาการสั้นลง สุดท้ายไม่ควรตามใจ เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะการรู้สึกขัดใจ เพราะเด็กสามารถเรียนรู้ว่า หากต้องการสิ่งใด การร้องไห้กลั้นจะเป็นเงื่อนไขในการได้ในสิ่งที่ต้องการ เมื่อลูกมีอาการร้องไห้แล้วกลั้นในครั้งแรก คุณพ่อ คุณแม่ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจดูว่าไม่มีความผิดปกติอย่างอื่นซ่อนเร้น เช่น ภาวะเลือดจาง โรคหัวใจ หรือ โรคลมชัก ในเด็กที่มีโรคหัวใจหรือโรคระบบหลอดเลือด หากมีอาการร้องกลั้นจนหน้าเขียว คุณพ่อคุณแม่ต้องดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดเพื่อความปลอดภัย หากเด็กร้องกลั้นแล้วไม่มีการตอบสนอง ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลทันที หรือโทร. 1669

ขอบคุณข้อมูล : สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี