สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 17 ก.ย. ว่ารายได้จากภาษีเศรษฐกิจดิจิทัลของอินโดนีเซียอยู่ที่ 27.85 ล้านล้านรูเปียห์ (ราว 60,382 ล้านบาท) นับตั้งแต่ปี 2565 จนถึงสิ้นเดือน ส.ค. 2567

ทั้งหมดมาจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม สินค้าอีคอมเมิร์ซ หรือตลาดซื้อขายออนไลน์ ภาษีคริปโต การให้กู้ยืมแบบเพียร์ทูเพียร์ หรือภาษีเงินกู้ทางออนไลน์ และภาษีจัดซื้อจัดจ้าง ผ่านระบบข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาล (เอสไอพีพี)

น.ส.ดวี อัสตูติ ผู้อำนวยการฝ่ายให้คำปรึกษา บริการ และประชาสัมพันธ์ ของกรมสรรพากรอินโดนีเซีย กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2563 สามารถเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มอีคอมเมิร์ซได้ 22.3 ล้านล้านรูเปียห์ (ราว 48,353 ล้านบาท) จากผู้จัดเก็บ 166 ราย ขณะที่ในปี 2567 เพียงปีเดียว จัดเก็บภาษีได้ถึง 5.39 ล้านล้านรูเปียห์ (ราว 11,682 ล้านบาท)

ขณะเดียวกัน รายได้ภาษีคริปโตตั้งแต่ปี 2565 มีจำนวน 875,440 ล้านรูเปียห์ (ราว 1,898 ล้านบาท) ประกอบด้วย ภาษีเงินได้จากการค้าคริปโต 411,120 ล้านรูเปียห์ (ราว 891,301 ล้านบาท) และภาษีมูลค่าเพิ่มคริปโต 463,320 ล้านรูเปียห์ (ราว 1,004 ล้านบาท)

ด้านภาษีฟินเทคจากการกู้ยืมออนไลน์ 2.43 ล้านล้านรูเปียห์ (ราว 5,268 ล้านบาท) ระหว่างปี 2565 – ส.ค. 2567 และยังมีภาษีจากธุรกิจเศรษฐกิจดิจิทัลอื่น ๆ จากเอสไอพีพี มีมูลค่าสูงถึง 2.25 ล้านล้านรูเปียห์ (ราว 4,877 ล้านบาท) โดยประกอบไปด้วยภาษีเงินได้ 152,740 ล้านรูเปียห์ (ราว 331 ล้านบาท) และภาษีมูลค่าเพิ่ม 2.09 ล้านล้านรูเปียห์ (ราว 4,530 ล้านบาท)

ทั้งนี้ อินโดนีเซียจะจัดเก็บภาษีผู้ประกอบการธุรกิจดิจิทัลต่อไป เพื่อสร้างความยุติธรรมและความเท่าเทียม ระหว่างอีคอมเมิร์ซและการค้าแบบเดิม นอกจากนั้น ยังคงดำเนินการสำรวจรายได้ภาษีที่เป็นไปได้ จากธุรกิจเศรษฐกิจดิจิทัลอื่น ๆ เช่น ภาษีจากธุรกรรมการซื้อขายสินทรัพย์คริปโต ภาษีฟินเทคจากดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งจ่ายโดยผู้รับเงินกู้ และภาษีเอสไอพีพี.

เครดิตภาพ : AFP