เมื่อวันที่ 17 ก.ย.67 ที่รัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์  มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ศาลนราธิวาส มีหนังสือด่วนที่สุดถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อดีตแม่ทัพภาค4 ในฐานะจำเลยที่ 1ในคดีตากใบ สละสิทธิความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 125  หลังจากที่ศาลมีหนังสือขออนุญาตจับกุมไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่า ขณะนี้สภายังไม่ได้รับหนังสือขอตัวจากศาล แต่หากมีหนังสือขอมาแล้วจะให้ฝ่ายกฎหมายพิจารณาตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ มาตรา 125 วรรคสองหรือวรรคสาม หรือไม่ ซึ่งต้องรีบพิจารณาโดยเร็ว

นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวด้วยว่า ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 125 นั้น ยังมีวรรคสี่ ที่กำหนดให้ศาลพิจารณาคดีในระหว่างสมัยประชุมได้ แต่ต้องไม่เป็นการขัดขวางหรือต้องไม่เกิดความเสียหายต่อการที่สมาชิกจะมาประชุม ดังนั้นศาลจึงดำเนินคดีสมาชิกในสมัยประชุมหรือนอกสมัยประชุมก็ได้  เพื่อให้เห็นว่าอำนาจนิติบัญญัติและตุลาการแยกปฏิบัติได้ ดังนั้นการปฏิบัติแล้วแต่ศาลจะปฏิบัติอย่างไร

“มีตัวอย่างคดีการล้มประชุมอาเซียนที่พัทยา พบว่านายอดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นจำเลย ศาลได้ดำเนินคดีระหว่างสมัยประชุม แต่ไม่ได้ดำเนินคดีหรือจับกุม และนายอดิศรส่งทนายไปแทน ดังนั้นอยู่ที่ดุลยพินิจของศาล ซึ่งหากศาลขอตัวกับสภาผู้แทนราษฎร ในสมัยประชุม ต้องบรรจุวาระพิจารณา  ทั้งนี้ตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ศาลยังไม่เคยขอตัวมา” นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าว

เมื่อถามว่า  กรณีดังกล่าาวต้องฟังนโยบายจากพรรคเพื่อไทยหรือรัฐบาลหรือไม่ ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ไม่มีนโยบายจากไหน สภาต้องปฏิบัติตามกฎหมาย และเรื่องนี้อยู่ในรัฐธรรมนูญและข้อบัคับสภา ระบุว่า ”หากศาลส่งมาต้องบรรจุในวาระและพิจารณา“ ซึ่งข้อบังคับเป็นของเก่า แต่รัฐธรมนูญ วรรคท้าย บอกว่าศาลทำได้ รวมถึงการจับกุมด้วย 

เมื่อถามถึง การลาประชุมของ พล.อ.พิศาล ที่พบว่ามีจำนวนบ่อยครั้ง ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า หนังสือจะส่งแค่สำนักงาน แต่ยังไม่มาถึงตน หากมีเหตุผลสามารถลาไปได้ เป็นสิทธิของ สส. ส่วนจำนวนกี่ครั้งนั้นต้องเป็นไปตามเงื่อนไข ลาอย่างไร  ลาป่วย ลากิจ ลาภารกิจได้กี่วัน 

ด้าน ว่าที่ ร.ต.ต.อาพัทธ์ สุขะนันท์ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า ในกรณีที่จะดำเนินคดีในสมัยประชุม  ศาลต้องขออนุญาตสภาผู้แทนราษฎร  เพราะเป็นไปตามหลักความคุ้มกันของ สส.  และเมื่อมีหนังสือเป็นหมายเรียกสำนักประชุมจะกราบเรียนประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อบรรจุวาระขออนุญาตดำเนินคดีกับ สส. ส่วนการอนุญาตหือไม่เป็นดุลยพินิจของสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้ที่ผ่านมามีกรณี ที่สส.แสดงความบริสุทธิ์ไม่ประสงค์ใช้ความคุ้มกัน แต่ปกติสภาผู้แทนราษฎร จะไม่อนุญาต เพราะมองในภาพรวมของสถาบันนิติบัญญัติ ที่ต้องมีหลักประกันในการปฎิบัติหน้าที่ เรียนกว่าหลักความคุ้มกัน จะไม่อนุญาต แม้จะสละสิทธิ

“รัฐธรรมนูญ มาตา 125 ระบุว่าในระหว่างสมัยประชุม ต้องขออนุญาต  และบรรจุวาระ ทั้งนี้ขึ้นอยู่ที่ประชุมจะเลื่อนวาระมาพิจารณาหรือไม่ ส่วนกรณีที่ปิดสมัยประชุมไปแล้ว ไม่ต้องขออนุญาต  เพราะหลักการคุ้มกันกำหนดให้ทำในระหว่างสมัยประชุม หากทำหนังสือมาช่วงสมัยประชุมแต่ปิดสมัยประชุมไปแล้วนั้นจะบรรจุว่าไม่มีความจำเป็นต้องบรรจุ เพราะปิดสัยประชุม จากนั้นจะแจ้งศาลให้ทำหมายเรียกไปยังตัวบุคคลโดยตรง” ว่าที่ ร.ต.ต.อาพัทธ์ กล่าว

เมื่อถามถึง  สิทธิการลาประชุม เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า สส.ขาดประชุมหรือลา ต้องมีหนังสือแบบฟอร์มระบุเหตุผล การอนุญาตนั้น ประธานสภาผู้แทนราษฎร จะเป็นผู้ใช้ดุลยพินิจว่า มีเหตุผลสมควรจะอนุญาต ปกติใช้หลักความยืดหยุ่น หากวันประชุมแต่ไม่ได้มา มาแจ้งภายหลังได้ โดยปกติแล้วสำนักงานจะมีรายละเอียดการลาของ สส.แจ้งให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทราบตามกรอบเวลา ส่วนพล.อ.พิศาล ทำหนังสือลามากครั้งหรือไม่ เรื่องอยู่ที่สำนักงานบริหารงานากลาง.