เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 16 ก.ย.ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม  (คอส.) ครั้งที่ 1  / 2567 โดยมีรัฐมนตรีเข้าร่วมประชุมด้วย ประกอบด้วย นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คมนาคม นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.เกษตรและสหกรณ์   นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รมช.กลาโหม พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.)  พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด(ผบ.ทสส.)

โดยนายกฯกล่าวก่อนการประชุมตอนหนึ่งว่า วันนี้เรียกประชุมด่วนจากที่ได้ลงพื้นที่ร่วมกับรัฐมนตรีหลายท่านที่อ.แม่สาย จ.เชียงราย ได้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นรวมถึงรับฟังการรายงานจากเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ต้องขอขอบคุณชาวเชียงราย ที่แม้จะเจออุปสรรคอย่างหนักหน่วง แต่ยังมีรอยยิ้มส่งให้กับผู้ที่ทำงาน รวมถึงรัฐบาล ตนขอให้กำลังใจ และขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย หน่วยงานความมั่นคง รวมถึงจิตอาสาที่เข้าไปช่วยประชาชน โดยไม่ต้องร้องขอ ขณะนี้มีพื้นที่พักพิงชั่วคราวอาหารและน้ำดื่มอย่างครบถ้วน ส่วนมาตรการเยียวยาก็ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน ซึ่งขอเน้นย้ำตรงนี้ ทั้งนี้การเยียวยาอยากให้เป็นไปอย่างเร่งด่วนและ ตรงกับจุด อย่างไรก็ตาม การเยียวยาอยากให้ตรงจุด เพราะหลายอย่างถูกตีกรอบการเยียวยา แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงมากกว่านั้นเยอะ และยังมีวาระการพูดถึงจำนวนวันที่เสียหาย อยากให้พิจารณาตรงนี้  อย่างที่อ.แม่สาย มีอุทกภัย 3 วัน ซึ่งดูน้อย แต่ความเสียหายมันมากกว่านั้นเยอะ ฉะนั้นถ้าเราตัดสินกันที่จำนวนวันจะไม่พอดีกับความเสียหายที่เกิดขึ้นอันหนักหน่วงตรงนี้  ฉะนั้นเรื่องของกรอบตรงนี้จะต้องมีการพิจารณาเพิ่ม และอยากให้นำเรื่องกระแสน้ำที่เป็นวิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้ นำมาสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในทุกจังหวัดที่เกิดน้ำท่วม

นายกฯ กล่าวต่อว่า  ทั้งนี้ สถานการณ์ล่าสุดที่อ.แม่สาย ปริมาณน้ำลดลง 30- 40  เซนติเมตร ที่จ.หนองคาย ก็ลดลง 20 -50 เซนติเมตร ตรงนี้โชคดีที่ไม่มีดินโคลนถล่มแต่ปัญหาเรื่องน้ำท่วมก็ต้องซักซ้อมเรื่องการแจ้งเตือนภัย ซึ่งเรื่องนี้จะต้องกำหนดกรอบงบประมาณเกี่ยวกับระบบ Cell Broadcast Service (CBS) หรือระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน ให้การเตือนภัยมีผลดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามการตั้งคณะกรรมการ อำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (คอส.) และจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการ ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ซึ่งมีนายภูมิธรรม เป็นผู้อำนวยการศูนย์ โดยจะทำงานร่วมกับนายอนุทิน นายสุริยะ และนายประเสริฐ  เพื่อให้การแก้ไขเป็นไปอย่างรวดเร็วและเป็นรูปธรรม รวมถึงจะต้องมีการวางกรอบการทำงาน เพื่อให้การทำงานช่วยเหลือประชาชนเป็นไปอย่างทันท่วงที.