เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 16 ก.ย. 67 ที่รัฐสภา มีการประชุมวุฒิสภา โดยมี พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 เป็นประธานการประชุม ทั้งนี้มีการพิจารณากระทู้ด้วยวาจา เรื่อง การเยียวยาหลังน้ำท่วมของ น.ต.วุฒิพงศ์ พงศ์สุวรรณ สว. ถามนายกรัฐมนตรีที่มอบหมายให้ น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รมช.มหาดไทย ตอบกระทู้แทน น.ต.วุฒิพงศ์ กล่าวว่า อยากทราบรัฐบาลมีมาตรการฟื้นฟูเยียวยาน้ำท่วม จ.เชียงราย และภาคอีสาน อย่างไร จะมีมาตรการลดค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ การฟื้นฟูบ้านเรือน พื้นที่เกษตรกรรมอะไรบ้าง

น.ส.ธีรรัตน์ รมช.มหาดไทย ชี้แจงว่า รัฐบาลไม่นิ่งนอนใจ จะรีบแก้ไขสถานการณ์ให้คืนสู่สภาวะปกติเร็วที่สุด ที่ผ่านมาดำเนินการทุกช่องทางเตือนภัยให้ประชาชนทราบเรื่องพายุ ฝนตกหนัก แต่น้ำมาเร็ว มาแรง มามากจริงๆ เรื่องการทำความสะอาดพื้นที่หลังน้ำลด ทำครั้งเดียวไม่พอ โคลนสูงถึงชั้นสอง จะลงไปช่วยเหลือจนเสร็จสมบูรณ์ การเยียวยาจากภาครัฐทั้งการฟื้นฟู การซ่อมแซมบ้านเรือนต่างๆ รัฐจะช่วยเต็มกำลัง และดูแลขวัญกำลังใจเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานด้วย รวมถึงการใช้แอปทางรัฐลงทะเบียนรับสิทธิเยียวยา ไม่ใช่ใช้เฉพาะนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต จะให้เป็นที่รวบรวมข้อมูลพื้นฐานให้ได้รับการช่วยเหลือทันที ไม่ต้องเสียเวลาตรวจสอบสิทธิพื้นฐาน

น.ส.ธีรรัตน์  กล่าวว่า ส่วนค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมนั้น ในการประชุมศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 67 ได้ตั้งโจทย์การแบ่งเบาภาระให้ประชาชน โดยให้ลดหรือไม่ต้องจ่ายในช่วงนี้ แบ่งเบาประชาชนมากที่สุด จะนำเข้า ครม.ขอความเห็นชอบ  ขณะที่การเยียวยาผู้ประสบภัย ในระยะแรกจะใช้จ่ายงบประมาณองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีจำนวนหนึ่ง และทุกจังหวัดยังมีงบสถานการณ์ฉุกเฉิน 20 ล้านบาท  หากเกินขีดความสามารถองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จังหวัดสามารถจ่ายเงินทดรองราชการตามระเบียบกระทรวงการคลังได้ เพื่อช่วยผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินได้ เหตุการณ์ครั้งนี้ทราบว่า กรมบัญชีกลางอนุมัติให้จังหวัดที่ประสบภัยภาคเหนือ เพิ่มขึ้นเป็นจังหวัดละ 100 ล้านบาท นายกฯ ไม่นิ่งนอนใจ ตั้งศูนย์กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ที่ปภ.ร่วมกันทำงานให้มีเอกภาพในทางเดียวกัน

น.ส.ธีรรัตน์  กล่าวว่า นอกจากนี้จะหามาตรการเร่งด่วนเตือนภัยประชาชนและผลักดันระบบ SMS Alert ต้องมีประสิทธิภาพ เมื่องบประมาณปี 2568 ผ่านสภาผู้แทนราษฎร จะผลักดันให้ระบบนี้ใช้ได้จริงทันที ส่วนกรณีมวลน้ำส่วนหนึ่งมาจากประเทศเพื่อนบ้านนั้น มีแผนไปเจรจาประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เมียนมา ทำงานร่วมกันในการขยายพื้นที่รับน้ำระหว่าง 2 ประเทศ  จากการลงพื้นที่พบว่า น้ำ อาหารมีทั่วถึงเพียงพอ คาดการณ์สถานการณ์ว่า น้ำยังคงมีต่อเนื่องใน 2-3 สัปดาห์นี้ ส่วนการใช้งบกลางดูแลประชาชนต้องรวดเร็ว ลดข้อจำกัดการช่วยเหลือให้หมดไป ส่วนการแก้ปัญหาน้ำระยะยาว ถือเป็นวาระแห่งชาติ จะนำผลการศึกษาในอดีตและปัญหาที่เคยเกิดขึ้น มาทำงานแบบบูรณาการ มั่นใจว่าจะได้รับความร่วมมือจากทุกหน่วยงาน.