สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก เมื่อวันที่ 15 ก.ย. ว่า รายงานที่ตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ “Science” เมื่อไม่นานมานี้ ระบุว่า แรงสั่นสะเทือนที่ตรวจพบในเดือน ก.ย. 2566 มีต้นกำเนิดมาจากคลื่นขนาดมหึมาในฟยอร์ดดิกสัน ทางตะวันออกไกลของกรีนแลนด์

“ดินถล่มและสึนามิอื่น ๆ ทำให้เกิดสัญญาณคลื่นเพียงไม่กี่ชั่วโมง และอยู่ในพื้นที่เท่านั้น แต่เหตุการณ์ข้างต้นส่งผลไปจนถึงทวีปแอนตาร์กติกา” นายคริสเตียน สเวนเนวิก หนึ่งในผู้เขียนรายงาน จากหน่วยงานสำรวจทางธรณีวิทยาของเดนมาร์กและกรีนแลนด์ หรือ จีอัส (GEUS) กล่าว

ในตอนแรก ปรากฏการณ์ดังกล่าวสร้างความประหลาดใจให้กับชุมชนนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งกำหนดให้เป็น “สิ่งไหวสะเทือนที่ไม่สามารถระบุได้” ก่อนมีการสรุปในภายหลังว่า แหล่งที่มาของแรงสั่นสะเทือน คือ ดินถล่ม

เมื่อเดือน ก.ย. 2566 หินและน้ำแข็งขนาด 25 ล้านลูกบาศก์เมตร ตกลงสู่ฟยอร์ดในพื้นที่ห่างไกลและไม่มีคนอยู่อาศัย ห่างจากมหาสมุทรเกือบ 200 กิโลเมตร ซึ่งเหตุการณ์นี้ทำให้เกิดสึนามิขนาดใหญ่ ความสูง 200 เมตร ที่ศูนย์กลางของแผ่นดินไหว และคลื่นสึนามิสูง 4 เมตร ที่อยู่ห่างออกไป 70 กิโลเมตร สร้างความเสียหายต่อฐานวิจัยบนเกาะเอลลา ทางตะวันออกของกรีนแลนด์

อนึ่ง รายงานระบุเสริมว่า เหตุดินถล่มเกิดจากธารน้ำแข็งที่เชิงเขามีขนาดบางลง ซึ่งเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นเร็วกว่าเดิม เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

“เนื่องจากภูมิภาคอาร์กติกยังคงอบอุ่นอย่างต่อเนื่อง เราคาดการณ์ว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และรุนแรงยิ่งขึ้นในอนาคต” สเวนเนวิก กล่าวทิ้งท้าย.

เครดิตภาพ : AFP