เนื่องจากตุรกีประสบกับภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูง พ่อค้าแม่ค้าริมถนน ซึ่งพบเห็นได้ทั่วไปในเมืองอิสตันบูล และเป็นส่วนหนึ่งของทัศนียภาพมาตั้งแต่สมัยจักรวรรดิออตโตมัน จึงกังวลเกี่ยวกับอนาคตของพวกเขา

“วันพรุ่งนี้ของเราไม่แน่นอน ผมสูญเสียลูกค้าไปเกือบครึ่งหนึ่ง เพราะภาวะเงินเฟ้อ” เดนิซ วัย 18 ปี กล่าว พร้อมกับแสดงความสงสัยว่า ผู้ค้าอาหารริมทางแบบเขา จะยังมีอยู่ในอนาคตหรือไม่

แม้อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกสูงขึ้น หลังการระบาดของโรคโควิด-19 และพุ่งขึ้นอีกครั้งหลังรัสเซียเริ่มปฏิบัติการทางทหารในยูเครน เมื่อปี 2565 แต่สถานการณ์ในตุรกี “เลวร้ายเป็นพิเศษ”

ข้อมูลอย่างเป็นทางการเผยให้เห็นว่า อัตราเงินเฟ้อของตุรกี พุ่งทะยานถึง 85% ในเดือน ต.ค. 2565 ก่อนที่จะชะลอตัว และเพิ่มขึ้นอีกครั้งจนแตะระดับ 75% ในเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา จากนั้นตัวเลขก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง จนอยู่ที่ 52% เมื่อเดือนส.ค.ที่ผ่านมา

ท้องถนนในเมืองอิสตันบูล ซึ่งเป็นเมืองที่มีประชากรราว 16 ล้านคน จะไม่เหมือนเดิม หากไม่มีพ่อค้าแม่ค้าริมถนน โดยในช่วงกลางคืน เมืองจะเต็มไปด้วยแผงขายของเคลื่อนที่พร้อมป้ายไฟนีออนสว่างไสว และอบอวลไปด้วยกลิ่นของอาหารรสเลิศมากมายหลากหลายเมนู

นายออสมัน ซีร์เกซี นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์อิซเมียร์ กล่าวว่า โดยทั่วไปแล้ว ผู้ค้าเหล่านี้ “มีภาพลักษณ์ที่ดี” ส่งผลให้จำนวนพ่อค้าแม่ค้าริมถนนเพิ่มขึ้นหลังการระบาดใหญ่ จนมากกว่า 1 ล้านคน

ปัจจุบัน ตุรกีมีผู้ค้าริมถนนประมาณ 7 ล้านคน ทั้งแบบถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ภาวะเงินเฟ้อส่งผลกระทบอย่างหนักต่ออาชีพนี้ ซึ่งมีรายได้ต่ำ และมีกำไรน้อยอยู่แล้ว

“แม้ค่าใช้จ่ายของผู้ค้ากลุ่มนี้ ต่ำกว่าเจ้าของร้านค้าแบบดั้งเดิมอย่างมาก เพราะพวกเขาไม่ต้องจ่ายค่าเช่าหรือค่าไฟฟ้า แต่พวกเขาก็มีต้นทุนสูงในสิ่งอื่น เช่น วัตถุดิบที่พวกเขาได้รับจากพ่อค้าคนกลางที่ส่งต่ออัตราเงินเฟ้อ แทนการซื้อจากผู้ผลิตโดยตรง” ซีร์เกซี กล่าว

ทั้งนี้ พ่อค้าขายอาหารริมถนนคนหนึ่งกล่าวว่า วัตถุดิบทุกอย่างมีราคาแพงมาก ซึ่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เขาขายขนมปังในราคาชิ้นละ 1 ลีรา (ราว 1 บาท) แต่ในตอนนี้ เขาจำเป็นต้องขายในราคา 15 ลีรา (ราว 15 บาท)

ขณะเดียวกัน พ่อค้าบางคนกล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากต้นทุนวัตถุดิบ ค่าขนส่งก็สูงขึ้นเช่นกัน อีกทั้งพวกเขาก็เผชิญกับปัญหา “ยอดขายย่ำแย่” เนื่องจากลูกค้าชาวตุรกี ไม่สามารถปรับตัวให้ทันกับราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นได้

ด้านเดนิซกล่าวว่า ลูกค้าของเขาในอดีต ส่วนใหญ่เป็นชาวตุรกี แต่ในทุกวันนี้ ลูกค้าในสัดส่วน 70% เป็นนักท่องเที่ยว แม้ซีร์เกซี เชื่อว่าบรรดาพ่อค้าแม่ค้าริมถนน จะอยู่รอดต่อไปได้ แต่สำหรับเดนิซ เขากลับไม่แน่ใจนัก.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP