เมื่อวันที่ 14 ก.ย. ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ร่วมคณะผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นำโดย พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ ลงพื้นที่จังหวัดเชียงราย ตรวจเยี่ยมติดตามสถานการณ์ของสถานศึกษาที่ประสบอุทกภัย ให้กำลังใจ และมอบถุงยังชีพแก่ครู บุคลากร และนักเรียน นักศึกษาที่ประสบอุทกภัย

โดย ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวว่า ผู้บริหาร ศธ. ได้แบ่งสายการตรวจเยี่ยมให้กำลังใจและมอบถุงยังชีพ ประกอบด้วยสิ่งของเครื่องใช้ ยารักษาโรค และอาหารแห้ง กระจายไปในหลายๆ จุดที่ประสบอุทกภัย ซึ่งที่โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เชียงราย (โรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค) สังกัด สพฐ. เป็นจุดหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยครั้งนี้ โดยกระแสน้ำได้ไหลเข้ามาท่วมโรงเรียนตั้งแต่วันที่ 11 กันยายน ในช่วงเช้าจนถึงช่วงค่ำความสูงประมาณ 1.5 เมตร ทางโรงเรียนได้ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของนักเรียน โดยเร่งอพยพนักเรียนออกจากพื้นที่โรงเรียนและชุมชน ตั้งแต่ช่วงเช้าจนถึงช่วงค่ำ โดยใช้เรือในการลำเลียงนักเรียนออกจากพื้นที่จนปลอดภัยครบทุกคน ซึ่งเป็นไปตามมาตรการความปลอดภัยที่ สพฐ. ได้กำชับไว้ และการสำรวจความเสียหายเบื้องต้น พบว่า ตัวคานและทรัพย์สินที่อยู่ภายในชั้น 1 ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า จากการติดตามสถานการณ์ของสถานศึกษาที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเชียงราย พบว่า มีสถานศึกษาหลายแห่งได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในครั้งนี้ โดยตนได้กำชับให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) สำรวจโรงเรียนในเขตพื้นที่ฯที่รับผิดชอบ โดยดูแลช่วยเหลือในเบื้องต้น และจัดทำแผนบูรณะฟื้นฟู เพื่อดำเนินการได้อย่างรวดเร็วหลังน้ำลด และให้เกิดประสิทธิภาพในการจัดการเรียนการสอน เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน และที่สำคัญต้องติดตามสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่องใกล้ชิด เป็นผู้นำหลักในการประสานงานดูแลให้ความช่วยเหลือโรงเรียน นักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ได้รับผลกระทบ เพราะมีพยากรณ์อากาศว่า จะมีพายุเข้ามาอีก ซึ่งอาจจะเกิดเหตุน้ำท่วมซ้ำได้ และขอเน้นย้ำให้สถานศึกษาปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันอุทกภัย รวมถึงแผนป้องกันและแผนเผชิญเหตุที่ได้เตรียมไว้ตลอด 24 ชั่วโมง

“ศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังเพื่อช่วยเหลือสถานศึกษาที่ประสบเหตุอุทกภัย สพฐ. ได้รายงานสถานการณ์สถานศึกษาในสังกัดที่ประสบเหตุอุทกภัยทั่วประเทศ ข้อมูลล่าสุด วันที่ 14 กันยายน 2567 มีสถานศึกษาใน 25 จังหวัด ได้รับผลกระทบ จำนวน 368 โรงเรียน 41 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา โดยจังหวัดเชียงรายมีสถานศึกษาที่ได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้น 6 แห่ง มีจำนวนผู้ประสบเหตุอุทกภัย ทั้งสิ้น 16,067 คน จำแนกเป็น นักเรียน จำนวน 14,671 คน ได้รับการเยียวยาแล้ว จำนวน 5,249 คน และ ครู-บุคลากร จำนวน 1,396 คน ได้รับการเยียวยาแล้ว จำนวน 864 คน ส่วนที่เหลือ 9,954 คน อยู่ระหว่างดำเนินการ เยียวยา” ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าว