มีหน้าที่ในการสร้างน้ำหล่อลื่นระหว่างมีเพศสัมพันธ์และสารเลี้ยงอสุจิ  เมื่อผู้ชายมีอายุมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยปกติต่อมลูกหมากจะขยายขนาดโตขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น แต่สำหรับมะเร็งต่อมลูกหมากจะมีเซลล์ต่อมลูกหมากที่มีการขยายตัวเติบโตขึ้นอย่างผิดปกติ  โดยจะเติบโตอย่างรวดเร็วและมีความสามารถในการลุกลามไปอวัยวะอื่นได้ ในมะเร็งต่อมลูกหมากระยะแรก ผู้ป่วยมักจะไม่มีอาการผิดปกติ จนกว่าเซลล์มะเร็งจะขยายขนาดจนเกิดการเบียดท่อปัสสาวะ ทำให้เกิดอาการปัสสาวะที่ผิดปกติ โดยอาการดังกล่าวอาจคล้ายกับโรคต่อมลูกหมากโตที่สามารถพบได้บ่อยในชายสูงอายุ อาทิเช่น  ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะไม่ออก ปัสสาวะบ่อย  ปัสสาวะแสบขัด หรือปัสสาวะมีเลือดปน เป็นต้น ซึ่งหากมีอาการดังกล่าว ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม

การตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากตั้งแต่ยังไม่มีอาการ หรือเริ่มมีอาการเพียงเล็กน้อย จะสามารถทำให้เพิ่มโอกาสพบมะเร็งต่อมลูกหมากตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ซึ่งสามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยในปัจจุบัน แนะนำให้ตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากในเพศชาย ตั้งแต่อายุ 50 – 75 ปี แต่ในผู้ป่วยที่มีประวัติญาติสายตรง คือ บิดา พี่ชาย หรือน้องชาย เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ควรได้รับการตรวจคัดกรองที่เร็วขึ้น กล่าวคือควรเริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 45 ปี จนถึงอายุ 75 ปี เพราะการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากในผู้ป่วยบางรายสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้

สำหรับการตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก เริ่มตั้งแต่การตรวจร่างกายด้วยวิธีคลำต่อมลูกหมากทางทวารหนัก เพื่อหารอยโรคที่เกิดขึ้นในต่อมลูกหมาก ร่วมกับการตรวจระดับสารคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากในเลือด (serum PSA) โดยค่าปกติ ควรจะน้อยกว่า 4 ng/ml ถ้าค่า serum PSA อยู่ระหว่าง 4 ng/ml แต่ไม่เกิน 10 ng/ml จะสามารถพบผู้ป่วยมะเร็งได้ประมาณ 1 ใน 3 แต่ถ้ามากกว่า
10 ng/ml จะสามารถพบผู้ป่วยได้มากขึ้นถึง 2 ใน 3 จะเห็นได้ว่าความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากจะเพิ่มขึ้นตามค่า serum PSA ที่สูงขึ้น แต่ลำพังการตรวจร่างกายและการตรวจ serum PSA ที่ผิดปกติ ก็ยังไม่เพียงพอที่จะวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากได้ ซึ่งถ้าการตรวจดังกล่าวมีความผิดปกติกล่าวคือ พบว่ามีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก การเจาะเก็บชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากทางทวารหนักจึงเป็นขั้นตอนถัดไป เพื่อที่จะนำชิ้นเนื้อมาตรวจว่ามีลักษณะของเนื้อมะเร็งหรือไม่ โดยจะใช้วิธีการเจาะชิ้นเนื้อแบบสุ่ม (Random Transrectal Ultrasound prostate biopsy) ซึ่งจะมีการใช้เครื่องมือขนาดประมาณนิ้วโป้งเข้าไปทางทวารหนัก และทำการเจาะเก็บชิ้นเนื้อจำนวน 10 ถึง 12 ชิ้น เพื่อนำไปตรวจหาเชลล์มะเร็งต่อไป

แต่ในปัจจุบันมีทางเลือกในการตรวจวินิจฉัยที่มากยิ่งขึ้น ก็คือการทำเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าบริเวณต่อมลูกหมาก (multiparametric MRI prostate) ถ้าพบว่ามีบริเวณที่น่าสงสัยว่ามีมะเร็งต่อมลูกหมาก จะนำภาพเอกซเรย์ดังกล่าวเป็นแผนภาพนำทางในการเจาะชิ้นเนื้อต่อมลูกหมาก (MRI fusion-targeted prostate biopsy) ทำให้ช่วยลดจำนวนชิ้นเนื้อที่ต้องเจาะเก็บ ลดการเจาะชิ้นเนื้อในรายที่ความเสี่ยงต่ำและเพิ่มโอกาสที่จะเจอมะเร็งต่อมลูกหมากอย่างมีนัยสำคัญมากยิ่งขึ้น

สำหรับการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากนั้นขึ้นอยู่กับระยะและความรุนแรงของตัวโรค พิจารณาร่วมกับอายุและสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย เริ่มตั้งแต่การตรวจติดตามหรือเฝ้าระวังเชิงรุกในผู้ป่วยสูงอายุ หรืออยู่ในกลุ่มที่มะเร็งมีความสามารถในการลุกลามต่ำไปจนถึงการผ่าตัดนำต่อมลูกหมากออกทั้งหมด (radical prostatectomy) การใช้ยาลดฮอร์โมนเพศชาย การฉายแสง การฝังแร่ การให้ยาเคมีบำบัด การผ่าตัดตัดอัณฑะ รวมถึงการให้ภูมิคุ้มกันบำบัด (immunotherapy)

ในแง่ของการผ่าตัดในการรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก จะมีความแตกต่างจากการผ่าตัดส่องกล้องรักษาต่อมลูกหมากโตโดยทั่วไป ที่จะนำเฉพาะเนื้อต่อมลูกหมากบางส่วนเฉพาะที่เบียดท่อปัสสาวะออก แต่ในมะเร็งต่อมลูกหมากมีความจำเป็นที่ต้องผ่าตัดนำต่อมลูกหมากออกทั้งหมด โดยวิธีการผ่าตัด ในปัจจุบันที่นิยมมีอยู่ 2 วิธีคือ การผ่าตัดต่อมลูกหมากออกทั้งหมดผ่านกล้อง (laparoscopic radical prostatectomy) และการผ่าตัดต่อมลูกหมากออกทั้งหมดโดยใช้หุ่นยนต์ช่วย (robotic-assisted laparoscopic radical prostatectomy) ซึ่งเป็นการใช้แขนกลหุ่นยนต์ที่ควบคุมโดยศัลยแพทย์  ทำให้มีความแม่นยำในการเก็บเส้นประสาทที่ช่วยเรื่องการแข็งตัวของอวัยวะเพศได้ดีมากยิ่งขึ้น

เนื่องจากมีการรณรงค์ในการตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากโดยการเจาะหาสารคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากในเลือด (serum PSA) ในเพศชายกลุ่มเสี่ยง หรือมีอาการของมะเร็งต่อมลูกหมากดังที่กล่าวมา ทำให้ปัจจุบันมีการตรวจพบผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากเพิ่มขึ้น และยังสามารถทำให้ตรวจพบมะเร็งต่อมลูกหมากตั้งแต่ระยะเริ่มต้นได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสในการรักษาให้ตัวโรคหายขาดได้ แต่ทั้งนี้การดูแลสุขภาพโดยทั่วไปให้แข็งแรง  งดการสูบบุหรี่ งดการดื่มแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงการบริโภคเนื้อสัตว์ติดมันที่ไหม้เกรียม ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ก็จะทำให้ห่างไกลจากโรคมะเร็งร้าย และมีสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจที่สมบูรณ์แข็งแรง

หากท่านมีข้อสงสัยหรือต้องการหาความรู้เพิ่มเติม ท่านสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ผ่านทางเว็บไซต์ส่งเสริมความรอบรู้สู้ภัยมะเร็ง https://allaboutcancer.nci.go.th/ เว็บไชต์ต่อต้านข่าวปลอมโรคมะเร็ง https://thaicancernews.nci.go.th/_v2/ เฟสบุ๊ค: สถาบันมะเร็งแห่งชาติ National Cancer Institute และ Line : NCI รู้สู้มะเร็ง

ข้อมูลจาก โดย นายแพทย์พร้อมวงศ์  งามวุฒิวงศ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยศาสตร์มะเร็งทางเดินปัสสาวะ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ

นายแพทย์สุรพงศ์  อำพันวงษ์

คลิกอ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่