สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากนครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 13 ก.ย. ว่าประชากรโลกร้อยละ 52.4 ได้รับสวัสดิการสังคมบางส่วน ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 10 นับตั้งแต่ปี 2558 และเป็นครั้งแรกที่ประชากรโลกกว่าครึ่งได้รับสวัสดิการสังคมอย่างน้อยบางส่วน

อย่างไรก็ตาม อาจมีประชากรถึง 3,800 ล้านคนที่ยังไม่ได้รับความคุ้มครองใด ๆ รวมไปถึงมากกว่า 3 ใน 4 ของประชากรเด็กทั่วโลก

การคุ้มครองทางสังคมครอบคลุมถึง การเข้าถึงการดูแลสุขภาพ และมาตรการความมั่นคงด้านรายได้ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับวัยชรา การว่างงาน การเจ็บป่วย ความพิการ การบาดเจ็บจากการทำงาน การเป็นแม่ หรือการสูญเสียผู้หาเลี้ยงของครอบครัว และการสนับสนุนเพิ่มเติม สำหรับครอบครัวที่มีเด็ก

ไอแอลโอเตือนว่า หากความก้าวหน้ายังคงดำเนินต่อไปในอัตราดังกล่าว โลกอาจต้องใช้เวลาอีก 49 ปี ในการทำให้ทุกคนได้รับการคุ้มครองจากสิทธิประโยชน์การคุ้มครองทางสังคม “อย่างน้อยหนึ่งรายการ”

นายกิลเบิร์ต เอฟ ฮวงโบ ผู้อำนวยการไอแอลโอ แสดงความกังวลเกี่ยวกับอัตราการครอบคลุมที่ต่ำในหลายประเทศ ซึ่งต่ำที่สุดในด้านผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยรายงานระบุว่า ใน 20 ประเทศที่เสี่ยงต่อวิกฤตสภาพอากาศมากที่สุด ประชากรร้อยละ 91.3 (364 ล้านคน) ไม่มีการคุ้มครองทางสังคมในรูปแบบใด ๆ และหากพิจารณาจากภาพรวมของ 50 ประเทศ ซึ่งมีความเสี่ยงที่สุด คิดเป็นประชากรร้อยละ 75 (2,100 ล้านคน)

ช่องว่างเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง หากพิจารณาถึงบทบาทในการบรรเทาผลกระทบ จากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ช่วยให้ผู้คนและสังคมปรับตัวเข้ากับความเป็นจริงใหม่ ซึ่งเกิดจากสภาพอากาศที่ไม่แน่นอน และอำนวยความสะดวกในการเปลี่ยนผ่านอย่างยุติธรรมสู่อนาคตที่ยั่งยืน ผ่านการให้หลักประกัน เช่น ความมั่นคงด้านรายได้ และการเข้าถึงการรักษาพยาบาล โดยจะช่วยรองรับครอบครัว ลูกจ้าง และองค์กรต่าง ๆ ในช่วงการเปลี่ยนผ่านสู่สีเขียว และเปิดโอกาสให้มีแนวทางปฏิบัติทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนมากขึ้น

รายงานเตือนว่า โลกในปัจจุบันกำลังอยู่ในวิถีการคุ้มครองทางสังคมที่แตกต่างกันอย่างมาก 2 วิถี แบ่งเป็น ประเทศที่มีรายได้สูง ซึ่งการคุ้มครองที่ทั่วถึงมากขึ้น โดยที่ประชากรเกือบร้อยละ 86 ได้รับการคุ้มครอง ขณะที่ประเทศซึ่งมีรายได้ปานกลาง อยู่ที่ร้อยละ 71.2 และประเทศที่มีรายได้ปานกลางถึงต่ำ อยู่ที่ร้อยละ 32.4

อย่างไรก็ตาม ในประเทศซึ่งยากจนที่สุดในโลก อัตราการคุ้มครองมีเพียงร้อยละ 9.7 และแทบไม่เปลี่ยนแปลงเลยตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งถือว่า “ต่ำจนไม่สามารถยอมรับได้”

ด้านประเทศที่มีรายได้สูงใช้จ่ายร้อยละ 16.2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) สำหรับการคุ้มครองทางสังคม ประเทศที่มีรายได้ต่ำ รวมถึงประเทศซึ่ง “เปราะบาง” ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่สุด ใช้จ่ายเพียงร้อยละ 0.8 เท่านั้น

ไอแอลโอกล่าวว่า ประเทศยากจนเหล่านี้ต้องการเงินเพิ่มเติมอีก 308,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ราว 10 ล้านล้านบาท) เพื่อรับประกันการคุ้มครองทางสังคมขั้นพื้นฐานอย่างน้อยที่สุด โดยเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการได้รับการสนับสนุนระหว่างประเทศ เพื่อบรรลุเป้าหมาย.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES