เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 67 ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มีนายมงคล สุระสัจจะ รองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม  พิจารณาเรื่องด่วนคณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 162

โดยนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์   รมว.ต่างประเทศ ชี้แจงนโยบายด้านการต่างประเทศของรัฐบาล ในการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภา   ยืนยันว่า นโยบายต่างประเทศของรัฐบาล เน้นการให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง และนโยบายต่างประเทศ จะต้องนำมาซึ่งผลประโยชน์แก่ประเทศชาติ ทำให้ประชาชนมีกิน มีใช้ มีเกียรติ และมีศักดิ์ศรี ต้องเป็นการต่างประเทศที่ประชาชนต้องจับต้องได้ พร้อมยืนยันว่า ยุทธศาสตร์การต่างประเทศของรัฐบาล จะใช้นโยบายการต่างประเทศ ไปช่วยขับเคลื่อนนโยบายมิติในการเสริมสร้าง สนับสนุน ส่งเสริม และบูรณาการ มิติในประเทศ เพื่อให้เกิดประโยชน์และความผาสุกแก่ประชาชน

นายมาริษ  กล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศจะสานต่อ นโยบาย “การทูตเชิงรุก” เพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์ และเพิ่มบทบาทของไทย ให้ไทยมีความเด่นชัดในจอเรดาห์ของโลก โดยต่อยอดจากจุดแข็งของไทย คือ การที่ไทยไม่มีศัตรู มีมิตรมาก และไม่เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งที่สำคัญใด ๆ รวมทั้งการมีที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์ และปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดี ในการสร้างเสถียรภาพ ความมั่นคง อำนาจต่อรอง และโอกาสให้กับประเทศไทย

รมว.ต่างประเทศ ชี้แจงแนวทางนโยบายการต่างประเทศของรัฐบาลว่า ในบริบทโลกที่มีความท้าทายสูงจากการแข่งขันของมหาอำนาจว่า รัฐบาล จะสร้างสมดุลในการดำเนินความสัมพันธ์กับมิตรประเทศ ในบริบทการแข่งขันเชิงภูมิรัฐศาสตร์ของมหาอำนาจ โดยกระชับความสัมพันธ์กับทุกประเทศ และขั้วอำนาจ รวมถึงผ่านการเข้าร่วม และผลักดันการจัดทำกรอบความร่วมมือต่าง ๆ เช่น OECD, BRICS, PCA เพื่อรักษาจุดเด่นในการ “ไม่เลือกข้าง” และ “เข้ากับทุกขั้วอำนาจได้อย่างสมดุล”  โดยในช่วงที่ผ่านมาได้มีการเยือน และพบปะผู้นำ และผู้บริหารระดับสูงของประเทศเพื่อนบ้าน มหาอำนาจ และประเทศยุทธศาสตร์อย่างต่อเนื่อง   เพื่อส่งข้อความว่า ไทยพร้อมจะร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด ซึ่งการที่ประเทศในขั้วอำนาจต่าง ๆ ตอบรับการมีปฏิสัมพันธ์กับไทยอย่างดียิ่ง และต่อเนื่อง สะท้อนการตอบรับในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในภูมิภาคยุโรป ซึ่งเว้นช่วงมาระยะหนึ่ง แสดงให้เห็นถึงการยอมรับ และภาพลักษณ์ที่ดีขึ้นของไทยในเวทีโลก

นายมาริษ กล่าวว่า การไม่เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งระหว่างประเทศ และดำเนินนโยบายที่เป็นมิตรกับทุกประเทศโดยไม่เลือกข้างนั้น เป็นประโยชน์สำหรับไทยในหลายด้าน โดยเฉพาะการดึงดูดการลงทุนในบริบทการแข่งขัน และแบ่งขั้วระหว่างมหาอำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในรูปแบบ Friendshoring และ Reshoring พร้อมยกตัวอย่างสำคัญ ในกรณีการให้ความช่วยเหลือตัวประกันคนไทย และคนไทยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล กับกลุ่มฮามาส เพราะการที่ประเทศไทยไม่เลือกข้าง และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกฝ่าย ทำให้ไทยสามารถพูดคุยได้กับทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายก็ให้ความร่วมมือด้วยดี   

รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญมากกับการกระชับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา มาเลเซีย และเวียดนาม เพราะรัฐบาลตระหนักว่า ความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาที่ยั่งยืน จะเกิดขึ้นได้เมื่อมิตรประเทศ ก้าวไปด้วยกัน โดยเฉพาะในมิติความสัมพันธ์ทวิภาคี ซึ่งไทยจะแสดงบทบาทนำอย่างสร้างสรรค์ในภูมิภาค อนุภูมิภาค และระหว่างภูมิภาค เพื่อสร้างเสถียรภาพ และความมั่นคง และสร้างอำนาจต่อรองร่วม และความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจร่วมกันในบริบทโลกที่แตกแยกออกเป็นหลายขั้ว และเน้นการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับกรอบความร่วมมือในภูมิภาค โดยเฉพาะความเป็นแกนกลางของอาเซียน และกรอบความร่วมมือระดับภูมิภาคและอนุภูมิภาค อาทิ ACD, ACMECS และ BIMSTEC ในการแก้ไขปัญหา และการรับมือกับความท้าทายร่วมกัน ทั้งอาชญากรรมข้ามชาติ (Online scam, ยาเสพติด, ค้ามนุษย์), ปัญหาฝุ่นควันข้ามพรมแดน รวมถึงในสภาวะอุทกภัย ไทยก็ได้ใช้ประโยชน์จากกรอบแม่โขง-ล้านช้าง หรือ MLC ในการเจรจากับประเทศสมาชิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ จีน และ สปป. ลาว ในการขอความร่วมมือให้บริหารจัดการการปล่อยน้ำจากเขื่อน

นายมาริษ กล่าวว่า ในเวทีระหว่างประเทศ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแสดงบทบาทที่สร้างสรรค์ ในประเด็นที่โลกให้ความสำคัญ รวมถึงประเด็นสิทธิมนุษยชนและค่านิยมประชาธิปไตย  โดยย้ำว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับประเด็นทั้ง 2 ซึ่งทำให้ประเทศไทยได้รับการยอมรับจากประชาคมโลกมากยิ่งขึ้น ดังจะเห็นได้จากการที่ความสัมพันธ์ระหว่างไทย กับสหภาพยุโรป และประเทศในภูมิภาคยุโรป มีพัฒนาการที่ดียิ่งขึ้น เห็นได้จากการที่รัฐสภา ได้ให้ความเห็นชอบกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วน และความร่วมมือรอบด้านระหว่างไทย-สหภาพยุโรป หรือ PCA และการเจรจา FTA ไทย-อียู และ FTA ไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป หรือ EFTA เป็นต้น.