เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 67 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ให้การต้อนรับ ดร.คริสต็อฟ เบอร์นาสโคนี เลขาธิการที่ประชุมกรุงเฮก ว่าด้วยกฎหมายระหว่างประเทศ แผนกคดีบุคคล (Hague Conference on Private International Law : HCCH) โดยมีประเด็นหารือที่สำคัญ ดังนี้

รมว.ยุติธรรมได้กล่าวถึงพัฒนาการด้านกฎหมายของไทย โดยเฉพาะการปรับปรุงกฎหมายภายในให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และการพัฒนาหลักนิติธรรม (Rule of Law) อันรวมถึงกฎหมายระหว่างประเทศ แผนกคดีบุคคล (Private International Law: PIL) ซึ่งเป็นพันธกิจหลักของ HCCH โดย HCCH เป็นองค์กรหลักที่เป็นศูนย์กลางความร่วมมือกฎหมายระหว่างประเทศในด้านกฎหมายเอกชน เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการดำเนินนิติสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ในการนี้ จะเป็นส่วนสำคัญที่สอดคล้องกับโครงการปรับปรุงและทบทวนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี ซึ่งดำเนินการโดยกระทรวงยุติธรรม เพื่อให้กฎหมายดังกล่าวมีมาตรฐานสากลด้วย รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการระดับชาติเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการ ภายหลังประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกที่ประชุมกรุงเฮกว่าด้วยกฎหมายระหว่างประเทศ แผนกคดีบุคคล ได้ย้ำความสำคัญของไทยในการผลักดันการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาของ HCCH โดยเฉพาะอนุสัญญาว่าด้วยการยกเลิกข้อกำหนดของการนิติกรณ์สำหรับเอกสารมหาชนจากต่างประเทศ (Convention Abolishing the Requirement of Legalization for Foreign Public Document) หรือ Apostille Convention ซึ่งจะช่วยลดภาระด้านขั้นตอนและระยะเวลาของประชาชนในการรับรองเอกสารที่จะต้องดำเนินธุรกรรมระหว่างประเทศ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับคนไทยที่มีถิ่นพำนักในต่างประเทศ ในการนำเอกสารทางทะเบียน การศึกษา การประกอบธุรกิจ เอกสารทางวิชาชีพ และเอกสารอื่นๆ ไปทำธุรกรรรมต่างๆ ให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว และไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งคาดว่าจะเป็นผลสำเร็จในระยะเวลาอันใกล้นี้

นอกจากนี้ คณะกรรมการระดับชาติฯ ยังได้ผลักดันแนวทางการปรับปรุงพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และการเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงการตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาและสนับสนุนประเด็นที่เกี่ยวข้องกับโทเคนดิจิทัล และการทำธุรกรรมในสินทรัพย์ดิจิทัล

ปัจจุบัน HCCH มีอนุสัญญาจำนวน 37 ฉบับ และ 2 พิธีสาร ซึ่งครอบคลุมการดำเนินการทางกฎหมายระหว่างประเทศทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ด้านความคุ้มครองครอบครัวและเด็ก ด้านความร่วมมือการดำเนินคดีข้ามชาติ และด้านพาณิชย์และการเงิน โดยไทยได้เข้าเป็นภาคีแล้ว จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ อนุสัญญาว่าด้วยลักษณะทางแพ่งในการลักพาตัวเด็กข้ามชาติ Child Abduction Convention และอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองเด็กและความร่วมมือเรื่องการรับบุตรบุญธรรมระหว่างประเทศ The protection of children and co-operation in the respect of country adoption Convention

ในโอกาสนี้ เลขาธิการ HCCH ได้ให้ข้อแนะนำแก่ไทยในการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาที่สำคัญของ HCCH ในอนาคต นอกจาก Apostile Convention อันได้แก่ อนุสัญญาว่าด้วยการส่งเอกสารทางการศาลระหว่างประเทศในคดีแพ่งและพาณิชย์ Service Convention อนุสัญญาว่าด้วยการส่งพยานหลักฐานทางแพ่งและพาณิชย์ในต่างประเทศ Evidence Convention อนุสัญญาว่าด้วยการค้ำจุนบุตรและสถานะครอบครัว Child Support Convention อนุสัญญาว่าด้วยข้อตกลงในการเลือกศาล Choice of Court Convention และ อนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ Judgment Convention ซึ่งอนุสัญญาดังกล่าว ล้วนมีความสำคัญต่อการคุ้มครองสิทธิของประชาชน ตลอดจนการพัฒนากฎหมายระหว่างประเทศของไทยให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืน