ภัยประชาชนผู้บริโภคยุคเศรษฐกิจดิจิทัล“ เป็นประเด็นที่ยังต้องถกเถียงร่วมกันหาทางออก “รับมือแก้ปัญหา“ จากการที่ภัยนี้กำลังกระทบสิทธิผู้บริโภคจำนวนมาก… ปัญหานี้ก็ถูกหยิบยกเป็นหัวข้อในเวที “โครงการสานพลังอาเซียน+3 เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในเศรษฐกิจดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์” ที่ทางสภาผู้บริโภคของไทย ร่วมกับองค์กรเครือข่ายในกลุ่มสมาชิกอาเซียน ประเทศอินโดนีเซีย และมาเลเซีย ร่วมกันจัดขึ้น ดังที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ได้สะท้อนข้อมูลไปตอนหนึ่งแล้ว…

มีข้อเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนปรับตัว
ให้เปลี่ยนวิธีคิดเพื่อให้ก้าวทันปัญหา
และให้มี กฎหมายเฉพาะเพื่อรับมือ“

ทั้งนี้ “ข้อเสนอแนะ“ เหล่านี้ได้ถูกจุดประเด็นเอาไว้ในเวทีดังกล่าว โดยนักวิชาการด้านสิทธิผู้บริโภคหลายคนมองว่า… จากระดับความรุนแรงของปัญหาการหลอกลวงยุคดิจิทัล ที่ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการนำเทคโนโลยี AI มาใช้เป็นเครื่องมือหลอกลวง จนทำให้มีเหยื่อออนไลน์จำนวนมาก ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการที่ “กฎหมายไม่เท่าทัน” และ “ตามไม่ทันโลก” ดังนั้นจึง มีการเสนอแนะว่าหากจะทำให้สิทธิของผู้บริโภคแข็งแรงขึ้น ก็ควรจะมีการปรับปรุงกฎหมายให้เข้มแข็งเพิ่มขึ้นกว่าเดิมควรจะมี “กฎหมายพาณิชย์ที่ชัดเจน” ใช้คุ้มครอง โดยที่ “ไม่มีช่องว่างกฎหมาย” ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

เกี่ยวกับ ข้อเสนอให้มี “กฎหมายพาณิชย์ที่ชัดเจน” เพื่อ “ใช้คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค” เรื่องนี้ทางอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร.จุฑามาศ ถิระวัฒน์ ก็ระบุไว้ว่า… ประเทศไทยมีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากกว่า 63.21 ล้านคน หรือคิดเป็น 88% ของประชากรทั้งหมด ขณะที่ระยะเวลาเฉลี่ยในการใช้อินเทอร์เน็ตต่อวันอยู่ที่ 7 ชั่วโมง 58 นาที ซึ่งเทียบกับประเทศในเอเชีย ไทยเป็นรองแค่ฟิลิปปินส์กับมาเลเซียเท่านั้น นี่สะท้อนว่า… ตลาดออนไลน์ของไทยใหญ่มาก และยิ่งขยายตัวมากขึ้นในช่วงเกิดโควิด-19 ที่ส่งผลทำให้วิถีชีวิตคนไทยเปลี่ยนไปตั้งแต่การซื้อขายสินค้า การใช้บริการต่าง ๆ

ทางอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์คนเดิมระบุไว้ว่า… แม้ตลาดออนไลน์ของไทยจะใหญ่โต แต่ที่น่าตกใจก็คือ “ไทยยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคด้านออนไลน์ที่ชัดเจน” ขณะที่จีนและอินเดียมีการเปลี่ยนกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคแล้ว โดยมีการเขียนไว้ชัดเจนเพื่อใช้กับธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งของไทยที่ใกล้เคียงสุดมีเพียง ...คุ้มครองผู้บริโภค

“กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์จริง ๆ คือ พ...ขายตรงและตลาดแบบตรง (ฉบับที่ 3) .. 2545 มาตรา 3 ที่มีการแก้ไขล่าสุดเมื่อปี 2560 ขณะที่กฎกระทรวงที่กำหนดการซื้อขายสินค้าหรือบริการโดยวิธีการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ที่ไม่ถือว่าเป็นตลาดแบบตรง พ.. 2561 กลับมีความแปลกประหลาด ทั้งที่ พ...ขายตรงฯ คุ้มครองผู้บริโภค กฎหมายลูกกลับส่งเสริมความสามารถผู้ประกอบธุรกิจ“ …ดร.จุฑามาศ สะท้อนกรณีกฎหมาย

ขณะที่ผู้อำนวยการส่วนความร่วมมือกับต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ดร.วิมลรัตน์ รุกขวรกุล เตริยาภิรมย์ เสริมไว้ว่า… กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายทางออนไลน์ของไทยเวลานี้มีเพียง พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง ซึ่งแม้จะเป็น พ.ร.บ. ที่ดูแลการค้าออนไลน์โดยตรง แต่ก็ยัง “มีช่องโหว่“ ทำให้ต้องใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคเข้ามาช่วยดูแลอีกแรง เช่น กรณีมีการซื้อขายทำสัญญาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ แต่กฎหมายไม่ได้กำหนดเรื่องการให้ข้อมูลต่าง ๆ กับผู้บริโภคก่อนทำสัญญา ทำให้เมื่อเกิดปัญหาขึ้น ผู้บริโภคจึงเสียเปรียบ เพราะ การคุ้มครองสิทธิไม่ชัดเจน

สำหรับ “การช่วยเหลือผู้บริโภคเมื่อมีข้อพิพาทกับผู้ประกอบการ” นั้น ดร.วิมลรัตน์ ยอมรับว่า… ทาง สคบ. อาจยังไปได้ไม่ถึง ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้มีการนำ AI มาประยุกต์ใช้ในการทำงาน 2 ส่วน คือ 1.รับเรื่องร้องทุกข์กับระงับข้อพิพาทออนไลน์ และ 2.จับเบาะแสการฉ้อโกงผ่านถ้อยคำในอินเทอร์เน็ต โดยในส่วนแรกนั้นได้ดำเนินงานมาตั้งแต่เมื่อ 5 ปีก่อน และมีการปรับปรุงเป็นระยะ ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภค ขณะที่ส่วนที่สองที่เป็นการนำ AI มาใช้เป็นเครื่องมือจับการฉ้อโกงทางออนไลน์ เป็นการนำโปรแกรม AI มาช่วยตรวจจับข้อความโฆษณา ซึ่งเคยมีคำวินิจฉัยแล้วกรณีที่เอาเปรียบผู้บริโภค

ส่วนแผนในอนาคตนั้น ทาง ผอ.ส่วนความร่วมมือกับต่างประเทศ สคบ. ระบุไว้ว่า… กำลังมีการขยายพรมแดนความร่วมมือให้กว้างมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ สคบ. มีความร่วมมือกับญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหราชอาณาจักร และลาว ในการระงับข้อพิพาททางออนไลน์ อีกทั้งกำลังสร้างความร่วมมือกับรัสเซีย เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้บริโภคได้เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ดี กับ “ผลกระทบผู้บริโภคยุคเศรษฐกิจดิจิทัล” ตอนนี้ “การจะแก้ปัญหาได้ไวขึ้น เครือข่ายจะต้องร่วมมือกันให้เกิดความเข้มแข็ง” ซึ่งขณะนี้ก็ได้มีการแบ่งงานกันชัดเจน โดย สคบ. ทำหน้าที่ป้องกัน (Prevention) ส่วนสภาผู้บริโภคทำหน้าที่ปกป้อง (Protection)

“สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการสร้างความเข้มแข็งให้ผู้บริโภคดูแลตัวเองได้ จึงจำเป็นต้องให้ความรู้กับผู้บริโภคให้รู้เท่าทันเศรษฐกิจดิจิทัล และสามารถส่งต่อความรู้นี้ไปให้กับสังคมคนรอบตัวได้ด้วย เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ แต่ก็ต้องยอมรับว่าแม้จะทำงานกันหนัก แต่ก็ยังมีการฉ้อโกงหลอกลวงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ สคบ. เองก็ต้องคิดปรับปรุงทบทวนกันอยู่ตลอดเพื่อให้การคุ้มครองผู้บริโภคมีประสิทธิภาพมากที่สุด“ …ทาง ดร.วิมลรัตน์ ระบุไว้ในเวทีดังกล่าว

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็มุ่งจะ เท่าทัน“
แต่ ที่ยังต้องตามดูกันคือกฎหมาย“…
ที่ ไร้ช่องโหว่คุ้มครองผู้บริโภค??“.