วานนี้ (11 ก.ย. 2567) จอน บอง โจวี ศิลปินร็อกระดับตำนานพบหญิงคนหนึ่งกำลังยืนอยู่นอกรั้วกั้นสะพานจอห์น ซีเกนเธเลอร์ ซึ่งเป็นสะพานคนเดินในเมืองแนชวิลล์ รัฐเทนเนสซี เมื่อเวลาประมาณ 18.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ขณะที่เขากำลังถ่ายทำมิวสิควิดีโอเพลง “People’s House” 

ระหว่างเกิดเหตุซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับที่ บอง โจวีกำลังถ่ายทำมิวสิควิดีโอนั้น ไม่ได้มีการปิดสะพาน ยังคงเปิดให้ประชาชนทั่วไปสัญจรได้ตามปกติ 

ในคลิปวิดีโอจากกล้องวงจรปิดที่เผยแพร่ทางเอ็กซ์โดยกรมตำรวจนครแนชวิลล์ แสดงภาพของนักร้องนำของวงบอง โจวีผู้โด่งดังจากเพลง “Livin’ on a Prayer” กำลังเดินเข้าไปหาผู้หญิงคนดังกล่าวซึ่งทำท่าเหมือนอยากจะกระโดดลงจากสะพานสูง จากนั้นเขาก็เข้าไปพูดคุยกับเธอพร้อมกับคนที่ผ่านมาเห็นเหตุการณ์อีกคนหนึ่ง

หลังจากนั้นไม่นาน บอง โจวีและพลเมืองดีก็ช่วยกันดึงร่างของหญิงที่คิดจะกระโดดลงจากสะพานข้ามรั้วกั้นมายังฝั่งที่ปลอดภัย แล้วพวกเขาก็สวมกอดกัน

ศิลปินร็อกรุ่นใหญ่ไม่ได้แสดงความเห็นใด ๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คาดว่าเพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวของหญิงที่เกือบจะกระโดดสะพานเพื่อทำร้ายตัวเอง ด้านแหล่งข่าวใกล้ชิดให้ความเห็นว่า บอง โจวีเพียงทำสิ่งที่ใคร ๆ ก็คงจะทำในสถานการณ์เดียวกัน ซึ่งก็คือให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่มีความจำเป็น

นอกเหนือจากมีชื่อเสียงในฐานะศิลปินร็อกตั้งแต่ยุคทศวรรษ 1980 จอน บอง โจวี ยังเป็นที่รู้จักดีว่าชื่นชอบการทำการกุศล เขาตั้งมูลนิธิเจบีเจ โซลขึ้นในปี 2549 เพื่อช่วยเหลือคนไร้บ้าน คนยากจนและครอบครัวที่ขัดสนทั่วสหรัฐอเมริกา

ในฐานะผู้ก่อตั้งองค์กร เขาได้รับการฝึกอบรมอย่างครบถ้วนในการพูดคุยกับผู้คนในสถานการณ์วิกฤต ซึ่งเขาได้ทักษะที่ได้จากการฝึกอบรมนั้นมาใช้ในโลกแห่งความเป็นจริง เมื่อได้ทำงานกับคนที่ตกอยู่ในภาวะวิกฤต ต้องรับมือกับความหิวโหยและขาดที่อยู่อาศัย 

กรมดับเพลิงแนชวิลล์และกรมตำรวจแนชวิลล์มาถึงที่เกิดเหตุไม่นานหลังจากการกระทำอันกล้าหาญของศิลปินดัง จอห์น เดรค หัวหน้ากรมตำรวจแนชวิลล์ แสดงความชื่นชมบอง โจวีในโพสต์บนเอ็กซ์ พร้อมกับข้อความระบุว่า “เราทุกคนต้องช่วยกันดูแลกันและกันให้ปลอดภัย” ขณะที่ชาวโซเชียลมีเดียจำนวนมากก็ออกมาแสดงความชื่นชมบอง โจวี เช่นกัน บางคนยกย่องว่าเขาเป็นคนดีเทียบเท่านักบุญ ขณะที่ผู้ใช้เอ็กซ์อีกคนระบุว่าเขาคือตำนานและเป็นคนที่ยอดเยี่ยมมาก

สำหรับสะพานคนเดินจอห์น ซีเกนเธเลอร์นั้นก็ได้รับการตั้งชื่อตามผู้สื่อข่าวคนหนึ่งซึ่งสร้างวีรกรรมการช่วยชีวิตชายคนหนึ่ง ไม่ให้กระโดดลงจากสะพานเพื่อฆ่าตัวตายเช่นเดียวกัน โดยเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1950 

ที่มา : nypost.com

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES