สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงโบโกตา ประเทศโคลอมเบีย เมื่อวันที่ 10 ก.ย. ว่าโคลอมเบียอาจเป็นประเทศที่อันตราย สำหรับการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญา ว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ครั้งที่ 16 (คอป16) หลังมีนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิที่ดิน ถูกสังหารถึง 79 ราย เมื่อปี 2566 สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ เมื่อเทียบเป็นรายประเทศ นับตั้งแต่เริ่มมีการจดบันทึก เมื่อปี 2555

“ตัวเลขนี้ช่างน่าตกใจ” น.ส.ลอรา ฟูโรเนส ที่ปรึกษาอาวุโส ด้านการรณรงค์ปกป้องที่ดินและสิ่งแวดล้อมของโกลบอล วิทเนส กล่าว

ในปี 2566 มีการสังหารนักสิ่งแวดล้อมและนักปกป้องสิทธิที่ดินอย่างน้อย 196 รายทั่วโลก และร้อยละ 85 มาจากภูมิภาคลาตินอเมริกา ซึ่งตรงข้ามกับคำมั่นสัญญาของ ประธานาธิบดีกุสตาโว เปโตร ผู้นำโคลอมเบีย ที่เคยให้ไว้เมื่อเข้ารับตำแหน่งในปี 2565 ว่าจะยุติความขัดแย้งที่กินเวลามานานถึง 60 ปี และแสวงหาความยุติธรรมทางด้านสิ่งแวดล้อมให้กับชุมชน

อย่างไรก็ตาม กระบวนการสร้างสันติภาพกับกลุ่มติดอาวุธ ซึ่งบางครั้งเกี่ยวข้องกับการสังหารนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เผชิญกับความล้มเหลว แม้วการตัดไม้ทำลายป่าจะลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 23 ปีในปีที่แล้ว ขณะที่กระทรวงสิ่งแวดล้อมโคลอมเบียเตือนว่า การตัดไม้ทำลายป่าจะเพิ่มขึ้นอีกในปีนี้

ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2565 มีนักสิ่งแวดล้อมเสียชีวิตอย่างน้อย 60 รายในโคลอมเบีย “ตัวเลขดังกล่าวน่าอับอายมากสำหรับประเทศเรา” น.ส.แอสทริด ตอร์เรส ผู้ประสานงานของกลุ่มสิทธิมนุษยชน โซโมส เดเฟนโซเรส กล่าว เธอเชื่อว่าปัญหานี้ไม่ใช่ความรับผิดชอบของรัฐบาลเพียงเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงสถาบันอื่น ๆ ของรัฐ อาทิ อัยการและหน่วยงานท้องถิ่น โดยในขณะนี้ โฆษกของรัฐบาลโคลอมเบียกล่าวว่า พวกเขากำลังดำเนินการตอบโต้ปัญหานี้

ในงานเปิดตัววาระการประชุมคอป16 น.ส.ฟรานเซีย มาร์เกซ รองประธานาธิบดีโคลอมเบีย และเจ้าของรางวัลโกลแมน ซึ่งเป็นรางวัลด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลก ย้ำว่า การประชุมครั้งนี้จัดขึ้น เพื่อยกย่องนักกิจกรรมสิ่งแวดล้อม ซึ่งเสียชีวิตจากการถูกสังหารอย่างน่าเศร้าในโคลอมเบีย.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES