เป็นเรื่องที่่น่ายินดีกับประเทศไทยและเหล่าทาสแมวไทยทั้งหลายจริง ๆ เมื่อ เพจเฟซบุ๊ก WCF Thailand by ARC มีการโพสต์ข้อความระบุว่า สมาคม ARC ขอแสดงความยินดีกับแมวสายพันธุ์ศุภลักษณ์ที่ได้รับการรับรองสายพันธุ์จาก WCF อย่างเป็นทางการในการประชุมใหญ่ WCF General Assembly 2024 ที่ประเทศเยอรมนีปีนี้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เลยที่จะผ่านมาได้ เพราะต้องมีการรวบรวมข้อมูลของสายพันธุ์นั้น ๆ โดยละเอียด ทั้งในด้านประวัติความเป็นมา ลักษณะของสายพันธุ์ และข้อมูลทางพันธุกรรม เพื่อกำหนดเป็นมาตรฐานของสายพันธุ์ (Breed Standard) และยังต้องมีการจัดการประกวดที่เรียกว่า Pre-Recognition Show ผู้บริหารและกรรมการจากองค์กรแมวสากลยอมรับ

โดย ARC เป็นสมาคมที่บริหารทะเบียนฟาร์มแมว และออกเอกสารแสดงประวัติสายพันธุ์แมว (Pedigree) ตามมาตรฐาน World Cat Federation (WCF) องค์กรแมวสากล มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศเยอรมนี มีวัตถุประสงค์หลักส่งเสริมการเลี้ยงแมว เพื่อรักษาเอกลักษณ์ของสายพันธุ์แมวแต่ละชนิด แต่อย่างไรก็ตาม ARC และ WCF เป็นองค์กรที่ไม่มีนโยบายส่งเสริมการเลี้ยงแมวเพื่อการค้าเชิงพาณิชย์

สำหรับ “แมวศุภลักษณ์” เป็นแมวสายพันธ์ุโบราณ ประเทศไทยมีเอกสารโบราณที่บันทึกเรื่องราวในประวัติศาสตร์อายุไม่ต่ำกว่า 200-300 ปี รวมถึงตำราดูลักษณะแมว สมุดข่อย ระบุว่าแมวศุภลักษณ์มีลักษณะขนเป็นสีทองแดง ไม่มีสีอื่นผสมและไม่มีแต้มเข้ม ส่วนอุ้งเท้าจะเป็นสีน้ำตาลแดงอมส้ม แตกต่างจากแมวศุภโชค หรือ เบอร์มีสแคท ที่สีขนน้ำตาลแดง มีแต้มเข้มและอุ้งเท้าจะเป็นสีเปลือกมังคุดสุกงอม

สายพันธ์ุศุภลักษณ์เป็นแมวที่มีความกระตือรือร้นอยู่เสมอ อยากรู้อยากเห็น ชอบผจญภัย รักอิสระเสรีเหนืออื่นใด ชอบสนใจสิ่งต่าง ๆ รอบตัว กับคนแปลกหน้าแล้วมันดูจะเป็นแมวที่ร้ายพอสมควร ทั้งนี้เป็นเรื่องที่น่ากังวลมากเพราะปัจจุบันแมวพันธ์ุศุภลักษณ์ในประเทศไทย หายากมากใกล้จะสูญพันธ์ุแต่ต้องขอชื่นชม นายปรีชา วัฒนา ผู้อนุรักษ์และพัฒนาแมวสายพันธุ์ศุภลักษณ์ หรือ ลุงปรีชา แห่ง “บ้านแมวไทยบางรัก” ผู้เพาะเลี้ยงแมวไทยและส่งเสริมการอนุรักษ์แมวไทยพันธุ์แท้ ต้องใช้ความพยายามและใช้เวลาทดลองอยู่นานหลายปี ในการเสาะหาพ่อพันธุ์แม่พันธุ์แมวศุภลักษณ์มาจากทั่วประเทศ กว่าจะสามารถเพาะแมวศุภลักษณ์พันธุ์แท้ซึ่งมีลักษณะถูกต้องตรงตามตำราออกมาได้ แต่ตอนนี้ยังไม่สามารถขึ้นทะเบียนสายพันธุ์ได้เนื่องจากยังมีจำนวนไม่มากพอ และเพิ่งเพาะพันธุ์ออกมาได้เพียง 3 รุ่น แต่ต้องการอีกอย่างน้อย 5 รุ่น เพื่อยืนยันความเป็นแมวไทยพันธุ์แท้แก่องค์กรแมวโลก.