ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. กล่าวในการประชุมเผยแพร่ผลการศึกษา โครงการศึกษาฉากทัศน์กิจการแพร่ภาพและกระจายเสียงในอนาคตของไทย ว่า ปีนี้เป็นปีครบรอบทศวรรษ การเปลี่ยนผ่านของทีวีดิจิทัล คนรุ่นใหม่ไม่ได้มองทีวีเป็นจอโทรทัศน์ แต่เป็นสมาร์ทโฟน เป็นสิ่งที่ดูเพื่อความบันเทิง มูลค่าและคุณค่าของสื่อทีวีเปลี่ยนไป เมื่อเกิดการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลและการมาถึงของแพลตฟอร์ม ทำให้ระบบนิเวศและฉากทัศน์ของสื่อ เปลี่ยนไปทั้งหมด ดิจิทัลแพลตฟอร์มที่มีความยืดหยุ่นมากกว่ากลายเป็นทางเลือกใหม่

“คอนเทนต์ ไม่ได้สำคัญที่สุด แต่เป็นแพลตฟอร์ม เมื่อแพลตฟอร์มดีมีความยืดหยุ่นมากกว่า เข้าถึงได้ง่าย การออกแบบให้มีประสบการณ์ในการใช้งานที่หลากหลายตอบสนองความพึงพอใจของคนรุ่นใหม่ เราปฏิเสธไม่ได้ว่าคอนเทนต์เป็นสินค้าทางวัฒนธรรม ทีวีไม่ใช่พื้นที่สาธารณะเชื่อมโยงคนเข้าด้วยกันอีกต่อไป แต่กลายเป็น search ที่คนเข้าไปค้นหาข้อมูล อนาคตของทีวี และผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล จึงอยู่ที่การปรับตัว สร้างคอนเทนต์ให้เป็นสินค้าทางวัฒนธรรมได้หรือไม่ ”

ทั้งนี้บทสรุปผลการศึกษาการกำกับดูแลในตลาดไทยมุ่งเน้นไปที่ผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์เดิมเป็นหลัก แต่ไม่ได้ครอบคลุมประชาชนในสังคมไทยทั้งหมด ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเน้นประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อให้แน่ใจว่าประชาชนกลุ่มที่มีรายได้น้อยได้รับประโยชน์จากสื่อโทรทัศน์แบบฟรีหรือต้นทุนต่ำ ดังนั้น จึงต้องประเมินผลกระทบทางสังคมของการเปลี่ยนผ่านไปสู่การสตรีมมิ่ง อาจจำเป็นต้องอุดหนุนสำหรับผู้ชมที่ไม่มีกำลังจ่ายหรือไม่ ยิ่งไปกว่านั้น การเลือกสตรีมมิ่งด้วยเหตุผลเชิงพาณิชย์ผู้บริโภคอาจต้องการคำแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเปลี่ยนจากโทรทัศน์ที่ออกอากาศแบบเดิมไปสู่การสตรีมมิ่งซึ่งขับเคลื่อนโดยการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร

และการสร้างสมดุลระหว่างการเปลี่ยนไปสู่การสตรีมมิ่งกับการให้บริการด้วยดาวเทียมวงโคจรประจำที่ขนาดเล็กกับดิจิทัลทีวีอาจเป็นแนวทางที่เหมาะสม แต่จำเป็นต้องมีการสนับสนุนครัวเรือนที่มีรายได้น้อย โดยรวมแล้ว จะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์สาธารณะเป็นสิ่งสำคัญโดยหน่วยงานกำกับดูแลต้องเน้นบทบาทในการสนับสนุนและคุ้มครองประชาชน การเปลี่ยนแปลงย่านความถี่ดาวเทียมอาจต้องมีการวิเคราะห์เกี่ยวกับผลกระทบทางการเงินและปัญหาที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบ

ข้อเสนอแนะจากการศึกษา สถานการณ์ตลาดไทย จะต้องแก้ไขปัญหาหลักดังนี้ การกำกับดูแลเนื้อหาในบริการ OTT และผู้ให้บริการแพร่ภาพกระจายเสียงแบบตามผังรายการ (linear) จำเป็นต้องปรับสมดุลใหม่ สตรีมมิ่ง OTT ขนาดเล็กของไทยควรได้รับการกำกับดูแลคุณภาพเนื้อหาโดยเฉพาะเนื้อหาที่เป็น อันตราย เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมด้านการกำกับดูแลเนื้อหาระหว่าง OTT และผู้ให้บริการทางโทรทัศน์

นอกจากนี้ กสทช. ควรติดตามจำนวนของผู้ประกอบการและความเข้มข้นของการแข่งขันในตลาดผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตประจำที่และเคลื่อนที่ รวมถึง ตลาดบริการสตรีมมิ่ง โดย กสทช. ควรมีอำนาจที่เพียงพอในการเข้าแทรกแซงเพื่อแก้ไขปัญหาหากเกิดสภาวะที่ผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่งหรือกลุ่มผู้ประกอบการมีอำนาจเหนือตลาดมากเกินไป

มาตรการกำกับดูแลเพื่อคุ้มครองผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ของไทยจากการสื่อสารที่สร้างความเกลียดชัง การยุยงให้เกิดการก่อการร้ายและความรุนแรง และการเผยแพร่เนื้อหาที่เป็นอันตรายของเด็กและผู้ใช้สื่อในกลุ่มเปราะบาง

กสทช. ควรศึกษาขอบเขตของอำนาจของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องและพิจารณาวิธีการร่วมมือกับหน่วยงานดังกล่าวในประเทศไทยเพื่อกำกับอำนาจของตลาดที่สูงของสื่อสังคมออนไลน์และแพลตฟอร์มดิจิทัลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรมแพร่ภาพกระจายเสียง

และ กสทช. ควรเริ่มการเจรจากับหน่วยงานอื่นในอุตสาหกรรมแพร่ภาพกระจายเสียงเพื่อสนับสนุนการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ที่รับผิดชอบการสนับสนุนการลงทุน การผลิต การจัดจำหน่าย และการส่งเสริมเนื้อหาที่ผลิตโดยประเทศไทย

การกระตุ้นภาคการผลิตเนื้อหาเพื่อส่งเสริมเนื้อหาคุณภาพสูงจะส่งเสริมให้เกิดการรับชมที่มากขึ้นในช่องทางการเผยแพร่สื่อแพร่ภาพกระจายเสียงทั้งหมดและช่วยลดผลกระทบที่เป็นอันตรายของเนื้อหาสตรีมมิ่งของไทยในปัจจุบัน