ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ หรือ บพท. กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าววถึงความคืบหน้าการขับเคลื่อนงาน บพท.เพื่อแก้ปัญหาความยากจน ในโครงการ 12 เดือน 12 ดีกระทรวง อว.ว่า ตามหลักวิชาการชั้นที่ยากลำบากที่สุด คือวัฏจักรความจนซ้ำซ้อน มิติแรกเกิดจากภายในครัวเรือน เช่น พฤติกรรมส่วนตัวติดการพนัน ยาเสพติด ผู้สูงอายุ ผู้พิการ เป็นต้น มิติที่สองเกิดจากการกดทับจากสภาพภายนอก เช่น ราคาผลผลิตตกต่ำ การลงทุนภาครัฐกดทับชีวิตความเป็นอยู่ หรือรับมือกับภัยพิบัติไม่ทัน สถานการณ์โควิด-19 เป็นต้น ส่งผลไปถึงลูกหลาน ดังนั้นเมื่อเข้าไปสำรวจ พบว่าคนจนเหล่านี้ไม่เคยเข้าถึงโอกาสของสวัสดิการภาครัฐ
เราจึงเข้าไปแก้ปัญหาดังนี้ 1.สร้างระบบการส่งต่อความช่วยเหลือ ใช้กลไกของชุมชนทำระบบสวัสดิการชุมชน 2. ระบบสวัสดิการภาครัฐ โดยได้รับความร่วมมือใน 3 กระทรวงได้แก่ กระทรวง อว. กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมทำความร่วมมือกับ 10 กรม 2 องค์กรมหาชน ทำให้เราสามารถส่งต่อความช่วยเหลือคนจนไปสู่สวัสดิการภาครัฐ ซึ่งถือว่าเป็นการใช้ข้อมูลในการแก้ปัญหา เรียกได้ว่าการวิจัยเป็นจุดกำเนิดความร่วมมือของหลายหน่วยงานที่เข้าไปช่วยเพื่อสอดคล้องกับการวิจัย และกระจายแก้ปัญหาตามจุดที่เกิดขึ้น โดยมีงานวิจัยเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่มีสิ่งสำคัญ 3 ข้อ คือ ข้อมูล กลไก และกระบวนการใช้ข้อเท็จจริง กลไกทำงานความร่วมมือใช้กระบวนการสร้างความสัมพันธ์เป็นนวัตกรรมกระบวนการสร้างเป้าหมายร่วมครั้งแรก
เราใช้มหาวิทยาลัยพัฒนาพื้นที่ 10 มหาวิทยาลัยสำรวจสภาพปัญหาเชิงลึกโดยการไปพูดคุยเพื่อสร้างเป้าหมายร่วมโดยใช้กระบวนการวิจัยด้วยกลไกภาคีเครือข่าย นำร่องตั้งแต่จังหวัด อำเภอ ชุมชน สร้างกระบวนการเรียนรู้ นำงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยมีอยู่แล้วไปช่วยเหลือเป้าหมายที่ชัดเจน วิเคราะห์ความยากจน สร้างงานสร้างอาชีพ ระดับลำบากที่สุดต้องเยียวยาก่อน โดยทำความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากนั้นค้นหาทักษะพาเข้าห่วงโซ่การผลิตเพื่อมีรายได้สม่ำเสมอเป็นการช่วยเหลืออย่างยั่งยืน ในปัจจุบันจากระบบข้อมูลสอบทานการวิเคราะห์เชิงปริมาณพบคนยากจนจำนวน 450,000 กว่าคน โดยสามารถส่งต่อความช่วยเหลือไปแล้วกว่าแสนคน
ทั้งนี้นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว.ได้ให้นโยบายว่าเราต้องมียุทธศาสตร์และเป้ามาย ซึ่งตั้งเป้าหมายว่า ปี 2565 เราต้องมียุทธศาสตร์แก้จนระดับพื้นที่ เราจะมีพื้นที่ต้นแบบซึ่งเราสามารถเจอคนจนได้ทุกครัวเรือนและสามารถช่วยเหลือได้อย่างแท้จริง โดยจะนำร่องทั้งหมด 10 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ 1.จ.สกลนคร 2.จ.กาฬสินธุ์ 3.จ.มุกดาหาร 4.จ.ยโสธร 5.จ.อำนาจเจริญ 6.จ.ศรีสะเกษ 7.จ.สุรินทร์ 8.จ.แม่ฮ่องสอน 9.จ.ชัยนาท 10.จ.ปัตตานี โดยทำเป็นต้นแบบว่าเราทำได้จริงๆ ด้วยความร่วมมือและใช้งานวิจัยนวัตกรรม ถ้าหน่วยงานภาครัฐหรือหน่วยงานที่มีบทบาทอำนาจ สามารถมาใช้แพลตฟอร์มของเราได้ เราพร้อมจะถ่ายทอดให้
ดังนั้นการทำงานเชิงพื้นที่ เราต้องมีเป้าหมายร่วมกัน หลักการ คือการบูรณาการการทำงานร่วมกัน ต้องมีระบบคิดทุกคนอยากจะทำอะไรดีๆ ให้บ้านเมือง มาเป็นเป้าร่วม ตั้งสมมุติฐานขึ้นมาแล้วพิสูจน์ให้เห็นว่าทำได้จริง เมื่อได้รับการยอมรับ จะทำให้หน่วยงานระดับนโยบาย การบริหารจัดการเอาไปปรับใช้เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้นและทำให้ บพท. จะแก้ปัญหาคนจนได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ส่วนที่เราทำมี 2 มิติ คือ1.การค้นหาและสอบทานข้อมูลคนจนในพื้นที่ และ 2.มุ่งเน้นสร้างงานวิจัยนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ชีวิต เพราะฉะนั้นเราจะมีกลไกและภาคีร่วม ได้แก่ ภาครัฐ สถาบันวิชาการ ชุมชน ประชาสังคม และภาคธุรกิจ เป็นความคาดหวังและคิดว่าจะเป็นกลไกที่เป็นคำตอบของประเทศ เพราะเมื่อสิ้นสุดโครงการความเข้มแข็งของคนในพื้นที่ กลไกพัฒนาพื้นที่ ยืนด้วยตัวของเขาเอง ก็สมกับบทบาทที่กระทรวง อว. เป็น catering for change