แม้กรุงนูซันตารา คาดว่าจะเปิดเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ของอินโดนีเซีย “อย่างเป็นทางการ” ในวันที่ 17 ส.ค. นี้ ซึ่งตรงกับวันชาติ แต่ความล่าช้าในการก่อสร้าง, ปัญหาด้านเงินทุน และความไม่เต็มใจของผู้ที่คาดว่าจะย้ายไปที่นั่น ทำให้เกิดความสงสัยเกี่ยวกับการเปิดตัวเมืองหลวงแห่งใหม่นี้

“ทุกอย่างยังอยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งมันเป็นงานที่ต้องใช้เวลานาน 10 ปี, 15 ปี หรือ 20 ปี ไม่ใช่แค่ 1 ปี, 2 ปี หรือ 3 ปี” วิโดโด ยอมรับระหว่างการลงพื้นที่ในสัปดาห์นี้

จริงอยู่ที่กรุงนูซันตารา ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ยังคงมีบทบาทสำคัญในการเฉลิมฉลองการประกาศเอกราชของอินโดนีเซีย แต่คำสั่งอย่างเป็นทางการ ในการย้ายเมืองหลวงจากกรุงจาการ์ตา มายังที่นี่ อาจเลื่อนออกไปจนกว่าพล.ท.ปราโบโว ซูเบียนโต ว่าที่ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย จะเข้ารับตำแหน่งผู้นำอินโดนีเซียต่อจากวิโดโด ในวันที่ 20 ต.ค. 2567

ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด ผู้นำอินโดนีเซีย เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ที่กรุงนูซันตารา

ทั้งนี้ วิโดโดรื้อฟื้นแผนการที่ถูกระงับไปเป็นเวลานาน เกี่ยวกับการย้ายเมืองหลวง แทบทันทีที่เขาเข้ารับตำแหน่งเมื่อปี 2562 หลังบรรดาผู้สันทัดกรณีกล่าวเตือนว่า กรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซียในปัจจุบัน ซึ่งเป็นมหานครที่มีประชากรราว 12 ล้านคน กำลังทรุดตัว

ด้วยเหตุนี้ ชายฝั่งตะวันออกของเกาะบอร์เนียว จึงได้รับเลือกให้เป็นที่ตั้งของเมืองหลวงแห่งใหม่ที่เรียกว่า “กรุงนูซันตารา” โดยแผนการดังกล่าวระบุถึงการสร้างเมืองใน 5 ระยะ ภายในปี 2588 แต่ในระยะที่หนึ่ง หรือ เฟสแรก ยังอยู่ระหว่างดำเนินการ อีกทั้งคำกล่าวอ้างที่ว่า เฟสแรกดำเนินเสร็จสิ้นแล้ว 80% นั้น “เป็นเรื่องยากที่จะยอมรับได้”

มโนภาพของเมืองหลวงแห่งใหม่ที่สวยงาม มีความขัดแย้งกับสภาพการณ์ในปัจจุบันเป็นอย่างมาก เนื่องจากกลุ่มคนงานในพื้นที่ก่อสร้าง ต้องทำงานหนักรอบอาคารสูงที่ว่างเปล่า และปกป้องใบหน้าของพวกเขาจากฝุ่นละออง ท่ามกลางแรงกดดันที่ต้องก่อสร้างให้เสร็จทันเส้นตายที่กำหนด นั่นคือวันที่ 17 ส.ค. นี้

นอกเหนือจากความล่าช้า อินโดนีเซียยังต้องเผชิญกับปัญหาชวนปวดหัวอีกหลายอย่าง ทั้งเรื่องที่ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารกรุงนูซันตารา และผู้ช่วยของเขา ลาออกจากตำแหน่งพร้อมกัน เมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา และความล้มเหลวในการดึงดูดการลงทุนที่สำคัญจากต่างประเทศ

อนึ่ง รัฐบาลจาการ์ตาจะจัดสรรเงินทุน 20% ให้กับกรุงนูซันตารา และต้องการการลงทุนจากภาคเอกชนอีก 100 ล้านล้านรูเปียห์ (ราว 220,000 ล้านบาท) ภายในสิ้นปีนี้ แต่ในเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา โครงการพัฒนากรุงนูซันตาราได้รับเงินเพียง 51.3 ล้านล้านรูเปียห์ (ราว 112,000 ล้านบาท) เท่านั้น ซึ่งจำนวนเงินทั้งหมดมาจากผู้สนับสนุนภายในประเทศ

ด้านผู้เชี่ยวชาญหลายคนกล่าวว่า บริษัทต่างประเทศหลายแห่ง อาจลังเลที่จะลงทุนกับการก่อสร้างเมืองที่ตั้งอยู่ในป่าฝนขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และต้องแลกกับความหลากหลายทางชีวภาพ และความคืบหน้าของโครงการก็ไม่ช่วยดึงดูดให้ข้าราชการมากกว่า 10,000 คน ย้ายไปยังกรุงนูซันตารา แม้รัฐบาลจะเสนอเงินช่วยเหลือพิเศษ หรือสิ่งจูงใจมากแค่ไหนก็ตาม.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP