โดยทั่วไปมักเป็นที่เข้าใจว่าหมู่โลหิต มีเพียง 4 หมู่ คือ หมู่ เอ (A) หมู่ บี (B) หมู่ เอบี (AB) หมู่ โอ (O)  และมีหมู่อาร์เอช (Rh) ที่แบ่งเป็น Rh+ (Rh positive) และ Rh- (Rh negative) ซึ่ง Rh- จัดเป็นโลหิตหมู่พิเศษเพราะหาได้ยากมากในคนไทย แต่ในความเป็นจริงแล้ว บนเม็ดโลหิตแดงยังมีแอนติเจนของหมู่โลหิตอีกหลายร้อยชนิด ในปัจจุบันถูกจัดเป็นหมู่โลหิตรวม 39 ระบบ  โดยคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญขององค์กรระดับนานาชาติ  International Society of Blood Transfusion (ISBT) ซึ่งหากมีการศึกษาเพิ่มขึ้นจะสามารถจัดระบบหมู่โลหิตเพิ่มขึ้นกว่านี้ ได้อีกในอนาคต   

ถึงแม้ว่าจะมีหมู่โลหิตมากถึง 39 ระบบ แต่ระบบที่มีความสำคัญในด้านการจัดเตรียมโลหิตให้ผู้ป่วยมี 10 ระบบ ได้แก่ ระบบ ABO Rh  Kell  Kidd  Duffy  Diego  Lutheran  MNS  P1PK  และ Lewis ในจำนวนนี้ หมู่โลหิตระบบ ABO มีความสำคัญมากที่สุด รองลงมาคือ ระบบ Rh ซึ่งในการให้โลหิตแก่ผู้ป่วยจะต้องให้ชนิดเดียวกับหมู่โลหิตของผู้ป่วยเท่านั้นจึงจะปลอดภัยที่สุด

ความแตกต่างของหมู่โลหิตอาร์เอชบวก (Rh-Positive) และ อาร์เอชลบ (Rh-negative)

ระบบ Rh ซึ่งถูกกำหนดโดยสารแอนติเจน D ที่อยู่บนผิวเซลล์เม็ดเลือดแดง (D-antigen) คนที่มีสารมีแอนติเจน D บนผิวเซลล์เม็ดเลือดแดงจะเป็นหมู่โลหิตอาร์เอชบวก (Rh-positive) ส่วนคนที่ไม่มีสารมีแอนติเจน D อยู่บนผิวเม็ดเลือดแดงบนผิวเซลล์เม็ดเลือดแดง จะเป็นหมู่โลหิตอาร์เอชลบ (Rh-negative) หรือเรียกว่า โลหิตหมู่พิเศษ เป็นหมู่โลหิตที่พบน้อยมากในคนไทย 1,000 คน จะพบเพียง 3 คน หรือร้อยละ 0.3 เท่านั้น คนไทยส่วนใหญ่จะมีหมู่โลหิต Rh-positive ร้อยละ 99.7 และหากผู้ที่มีหมู่โลหิต Rh-negative ต้องได้รับโลหิตในการรักษา จำเป็นจะต้องได้รับหมู่โลหิต Rh-negative ด้วยกันเท่านั้น แต่พบว่ายังมีหมู่โลหิตพิเศษอีกหนึ่งระบบ ที่เรียกว่า “Rh+ (Asian-type DEL) หรือหมู่โลหิตอาร์เอชเดลชนิดเอเชี่ยน” ซึ่งพบได้ในกลุ่มของผู้ที่มีโลหิตหมู่พิเศษ Rh-negative ที่เป็นคนเอเชีย ร้อยละ 15 หรือ ใน 100 คน จะพบ 15 คน

High angle health professional drawing blood

Rh DEL พบครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่น ในปี ค.ศ. 1984

การระบุว่าเป็นหมู่เลือด Rh-negative ในปัจจุบันใช้วิธี antihumanglobulin test ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐานที่ใช้กันเป็นส่วนใหญ่ในเอเชียและแอฟริกา แต่มีข้อด้อยคือไม่สามารถตรวจหมู่เลือดในกลุ่ม Rh DEL ได้ เพราะกลุ่ม Rh DEL มีความแรงของแอนติเจน D อ่อนมาก และตรวจพบได้ด้วยวิธี absorption-elution test โดย Rh DEL พบครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่น โดย Okubo Y. และคณะ ในปี ค.ศ. 1984 ทั้งนี้กลุ่ม Rh DEL ถูกจัดอยู่ในพวก Rh positive ชนิด weak D ในกรณีเป็นผู้บริจาคโลหิตเพราะสามารถตรวจพบแอนติเจน D บนผิวเม็ดเลือดแดงและสามารถกระตุ้นให้คนไข้ Rh negative แท้ สร้าง anti-D ขึ้นมาได้

ด้วยความก้าวหน้าทางวิทยาการ ในปี พ.ศ. 2561-2565 ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ได้ทำการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาการตรวจหาหมู่โลหิตพิเศษ Rh+ (Asian-type DEL) ในผู้บริจาคโลหิตขึ้น ซึ่งผู้ที่มีหมู่โลหิตพิเศษ Rh+ (Asian-type DEL) นี้ จัดเป็นหมู่โลหิต Rh positive (Rh+) เนื่องจากมีแอนติเจน D บนผิวเซลล์เม็ดเลือดแดง แต่มีในปริมาณน้อยมากจนการตรวจในห้องปฏิบัติการทั่วไปไม่สามารถตรวจพบได้ จึงทำให้ Rh+ (Asian-type DEL) นี้ถูกระบุเป็น Rh- มาโดยตลอด ทั้งนี้ จากการตรวจหมู่โลหิต Rh+(Asian-type DEL) ในผู้บริจาคโลหิต Rh-negative ของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ จำนวน 2,394 ราย พบว่ามีหมู่โลหิตพิเศษ Rh+ (Asian-type DEL)  จำนวน 359 ราย

ผู้บริจาคโลหิตที่ได้รับการตรวจว่าเป็น Rh- ในช่วงที่ผ่านมา หากได้รับการตรวจโดยวิธีใหม่มีโอกาสถูกตรวจพบเป็นหมู่โลหิต Rh+ (Asian-type DEL)

รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงดุจใจ ชัยวานิชศิริ ผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ระบุว่า ผู้บริจาคโลหิตที่ได้รับการตรวจว่าเป็นหมู่โลหิต Rh- ในช่วงที่ผ่านมา หากท่านมาบริจาคโลหิตที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ หรือภาคบริการโลหิตแห่งชาติแล้วได้รับการตรวจด้วยวิธีตรวจแบบใหม่นี้ ท่านจะมีโอกาสถูกตรวจพบว่าเป็นหมู่โลหิตพิเศษ Rh+ (Asian-type DEL)

Blood drop on a test plate

                   การเปลี่ยนแปลงสำหรับผู้บริจาคโลหิตหมู่พิเศษ Rh+ (Asian-type DEL)

                   1.  ผู้บริจาคโลหิตจะได้บัตรผู้บริจาคโลหิตใหม่ ระบุหมู่โลหิตที่ถูกต้องเป็น Rh+ (Asian-type DEL) ซึ่งจัดว่าเป็นหมู่โลหิต Rh+ สามารถให้แก่ผู้ป่วยหมู่โลหิต Rh+ เท่านั้น

                   2.  กรณีผู้บริจาคโลหิตมีความจำเป็นต้องได้รับเลือดในการรักษา สามารถรับเลือดกลุ่ม Rh+ ได้อย่างปลอดภัย

                   3. ผู้บริจาคโลหิตยังคงสามารถเป็นผู้บริจาคโลหิต ผู้บริจาคโลหิตเฉพาะส่วน รวมทั้งการบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต ได้อย่างต่อเนื่อง

“ประโยชน์ของการตรวจวิเคราะห์หมู่โลหิตด้วยวิธีใหม่นี้ นอกจากจะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับโลหิตที่มีความเหมาะสมมากขึ้น ยังช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มความปลอดภัยในการรักษา จึงขอเชิญชวนผู้บริจาคโลหิตหมู่พิเศษ Rh-negative และผู้บริจาคโลหิตทุกท่าน ร่วมบริจาคโลหิต ณ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ และภาคบริการโลหิตแห่งชาติ 12 แห่งทั่วประเทศ โดยโลหิตที่ได้รับบริจาคทุกยูนิต จะได้รับการตรวจหาหมู่โลหิตพิเศษ Rh+ (Asian-type DEL) ตั้งแต่บัดนี้ เป็นต้นไป” รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงดุจใจ ระบุ

หมู่โลหิตมีความสำคัญในการให้โลหิตแก่ผู้ป่วย การตรวจหาชนิดหมู่โลหิตของตนเองจึงทำให้เกิดประโยชน์ในด้านการช่วยชีวิตผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยซึ่งเป็นโรคที่ต้องได้รับโลหิตเป็นประจำ ควรตรวจหาชนิดของหมู่โลหิตไว้ล่วงหน้า เพื่อจะได้รับโลหิตที่มีหมู่โลหิตตรงกับตนเองให้มากที่สุด เป็นการป้องกันการหาโลหิตที่เข้ากันได้ยากและสามารถช่วยชีวิตได้อย่างทันท่วงที

แหล่งอ้างอิง

ฝ่ายจัดหาผู้บริจาคโลหิตและสื่อสารองค์กร ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย โทรศัพท์ 0 2256 4300, 0 2263 9600-99 ต่อ 1760, 1761 

ข้อมูลจาก ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย

นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์

คลิกอ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่