“ต้องปรับตัวเพื่อให้เดินต่อในสนามแข่งขันได้” เป็นแนวคิดธุรกิจสั้น ๆ แต่ได้ใจความที่ อธิยุตว์ หาญมนตรี ผู้ประกอบการ “ธุรกิจเนื้อปูม้าพาสเจอร์ไรซ์” พื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช ระบุไว้ที่วันนี้คอลัมน์นี้มีกรณีศึกษานำมาฝากกัน…

               อธิยุตว์ผู้ก่อตั้งสิชลเดลีเฟรชขึ้นเพื่อผลิตและจำหน่ายเนื้อปูม้าพาสเจอไรซ์บรรจุกระป๋อง รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปอื่น ๆ จากปูม้า ภายใต้ชื่อแบรนด์ว่า “เนเจอร์ โกรว์”  เล่าว่า แม้เขาจะไม่ใช่แบรนด์ใหญ่ แต่ก็ยืนในตลาดเนื้อปูม้าพาสเจอร์ไรซ์มาได้กว่า 17 ปี ทั้งที่ตลาดนี้มีการแข่งขันสูง โดยแนวคิดธุรกิจสำคัญของเขาคือ ด้วยความที่เป็นแบรนด์เล็กทำให้ ต้องสร้างมาตรฐานกับคุณภาพสินค้าให้แข็งแกร่ง พร้อมหมั่นต่อยอดพัฒนาสินค้าให้หลากหลายเพื่อเป็นทางเลือกให้กับลูกค้าเรื่อย ๆ ขณะที่ส่วนที่เสริมเข้ามาก็คือ ต้องเพิ่มทักษะการทำตลาดออนไลน์มากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสเข้าถึงกลุ่มลูกค้า  ทั้งนี้ ก่อนที่จะมาทำโรงงานผลิตเนื้อปูม้าพาสเจอไรซ์ ตัวเขาเคยทำงานกับบริษัทที่นำเทคโนโลยีการทำปูพาสเจอร์ไรซ์มาก่อน ซึ่งทำอยู่ 5 ปีก็ลาออกมาทำโรงงานของตัวเอง ที่ จ.ตราด แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะช่วงนั้นตลาดปูม้าพาสเจอไรซ์กำลังบูม ทำให้สู้บริษัทใหญ่ไม่ได้

               อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาเขาก็ตัดสินใจกลับมาเริ่มต้นธุรกิจใหม่อีกครั้ง ที่ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งการเริ่มต้นธุรกิจครั้งนี้  เรียกว่าเริ่มจากศูนย์ก็ได้ ทำให้ช่วงแรก ๆ จึงเสนอข้อตกลงด้วยการแบ่งหุ้นส่วนให้เพื่อแลกกับพื้นที่ตั้งโรงงาน โดยช่วงที่ธุรกิจเริ่มต้นนั้น ได้เน้นเจาะตลาดต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป ฮ่องกง ไต้หวัน และจีน แต่ต่อมาตลาดอเมริกาเริ่มนำเข้าสินค้าจากอินโดนีเซียมากขึ้น เพราะต้นทุนต่ำกว่าไทย เขาจึงหันมาทุ่มกับตลาดในประเทศไทย โดยเริ่มจากส่งสินค้าให้ร้านอาหารในพื้นที่ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการคนเดิมบอกว่า  แม้จะเป็นแบรนด์เล็ก ๆ แต่ข้อดีของตลาดปูม้าพาสเจอร์ไรซ์ ก็คือ ทุกอย่างวัดกันที่มาตรฐานกับคุณภาพ ทำให้เขาต้องพยายามรักษาจุดแข็งของธุรกิจไว้ ด้วยการพัฒนามาตรฐานต่าง ๆ จนสินค้าที่ผลิตผ่านการรับรองมาตรฐานต่าง ๆ มากมาย เช่น BRC ซึ่งเป็นมาตรฐานความปลอดภัยทางอาหารของอังกฤษ หรือ HACCP ที่เป็นมาตรฐานของกรมประมง เป็นต้น อย่างไรก็ดี การลงทุนเพื่อให้สินค้าได้มาตรฐานนั้น ต้องใช้เงินลงทุนไม่น้อยในแต่ละปี แต่ก็ต้องทำ เพราะช่วยสร้างความมั่นใจให้ลูกค้า ส่วนด้านการตลาดนั้น นอกจากจะพยายามแตกไลน์สินค้าให้มีความหลากหลายขึ้นแล้วยังต้องวางแผนอนาคตด้วยการทำให้สินค้ากระจายสินค้าออกไปได้ทั่วประเทศมากขึ้นด้วย ซึ่งในการลงทุนด้านนี้ก็ได้ความช่วยเหลือจากทาง SME D Bank สนับสนุนเงินทุนค่าใช้จ่ายและพัฒนาสินค้า ซึ่งช่วยได้เยอะมาก โดยเฉพาะกับแบรนด์เล็ก ๆ กับธุรกิจเอสเอ็มอีแบบเขา ผู้ประกอบการรายนี้ระบุ และนี่เป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาที่เอสเอ็มอีอื่น ๆ ศึกษาปรับใช้ได้ โดยแนวทางที่ผู้ประกอบการรายนี้ใช้นั้นยืนยันได้อย่างดีว่า ถึงแม้จะเป็นแบรนด์เล็ก ๆ แต่ถ้ารู้จักหาโอกาส และนำโอกาสมาใช้ให้ถูกต้อง ก็สามารถสู้กับแบรนด์ใหญ่ ๆ ได้.

บดินทร์ ศักดาเยี่ยงยงค์ [email protected]