นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาล ในช่วง 9 เดือนแรกของปี งบประมาณ 67 (ต.ค. 66-มิ.ย. 67) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิจำนวน 2.01 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 26,169 ล้านบาท หรือ 1.3% และมีแนวโน้มลดลงจากในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.8% โดยฐานการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วงเดียวกันของปีก่อน มีรายได้พิเศษรวม 5 5,579 ล้านบาท หากไม่รวมรายได้พิเศษดังกล่าว รายได้รัฐบาลสุทธิจะสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.8%
ทั้งนี้ กรมสรรพากร กรมศุลกากร รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่น จัดเก็บรายได้สูงกว่าประมาณการ ยกเว้นการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิต ที่ทำได้ต่ำกว่าเป้าหมาย หลังได้รับผลกระทบจากมาตรการปรับลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซล และน้ำมันเบนซิน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานแก่ประชาชนและผู้ประกอบการและมาตรการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาค แต่ภาพรวมการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิตสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 12.3%
“กระทรวงการคลังมีความมั่นใจว่าสามารถบริหารจัดการการจัดเก็บรายได้ในปีนี้ให้เป็นไปตามเป้าหมาย เพื่อเสริมสร้างฐานะการคลังให้มีความมั่นคงพร้อมสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล ในการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่ออัดฉีดเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจให้ได้มากที่สุด”
สำหรับการจัดเก็บรายได้ 3 กรมภาษี กรมสรรพากร จัดเก็บได้ 1.61 ล้านล้านบาท เกินเป้าหมาย 8,024 ล้านบาท กรมสรรพสามิต จัดเก็บได้ 393,878 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 58,528 ล้านบาท กรมศุลกากร จัดเก็บได้ 88,432 ล้านบาท เกินเป้าหมาย 2,802 ล้านบาท หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ 156,346 ล้านบาท เกินเป้าหมาย 7,400 ล้านบาท หน่วยงานอื่น131,318 ล้านบาท เกินเป้าหมาย 2,856 ล้านบาท
นายพรชัย กล่าวว่า ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในช่วง 9 เดือนของปี งบประมาณ 67 รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น 2 ล้านล้านบาท ขณะที่มีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณทั้งสิ้น 2.53 ล้านล้านบาท โดยรัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล 428,170 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 67 มีทั้งสิ้น 449,980 ล้านบาท