นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยถึงแผนการดำเนินงานในปี 67 และปี 68 ในกิจกรรมสร้างเครือข่ายความร่วมมือ และการมีส่วนร่วมต่อการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาระบบการขนส่ง และจราจรว่า ขณะนี้ สนข. อยู่ระหว่างเร่งผลักดัน 6 โครงการ วงเงินรวมประมาณ 4.99 หมื่นล้านบาท เพื่อนำเสนอกระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรี(ครม.) ภายในปี 67 พิจารณาดำเนินการให้เป็นรูปธรรมต่อไปประกอบด้วย 1. พระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ โดยใช้บัตรโดยสารเพียงใบเดียว 2. พระราชบัญญัติเขตพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ หรือ พ.ร.บ. SEC เพื่อใช้กำกับดูแล และอำนวยความสะดวกแก่ผู้ลงทุน การวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่มีการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน
มีแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และสาธารณูปโภคที่เชื่อมโยงกันทั้งใน และนอกระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ เพื่อยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม 3.แผนพัฒนาการเดินทางทางน้ำในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล (W-MAP) เพื่อพัฒนาการเดินทางทางน้ำ ยกระดับการบูรณาการเดินทางกับรูปแบบอื่น เพิ่มการใช้ประโยชน์เพื่อการสัญจรและการท่องเที่ยว วงเงิน 8,871 ล้านบาท 4.แผนการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงรูปแบบการเดินทาง เพื่อเข้าถึงสถานีรถไฟฟ้าและสนามบินในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล (Feeder) พัฒนาจุดเชื่อมต่อการเดินทาง ล้อ-ราง-เรือ พร้อมปรับปรุงลักษณะกายภาพและจัดสิ่งอำนวยความสะดวกให้ประชาชนใช้บริการได้อย่างสะดวก วงเงิน 4,372 ล้านบาท
5.แผนการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (ปี 66-80) โดยเร่งผลักดันและขับเคลื่อนนโยบาย EV ภาคคมนาคม พัฒนาการใช้เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าสำหรับการขนส่งสาธารณะ พร้อมส่งเสริมให้ประชาชนใช้งานระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น และลดมลพิษ วงเงิน 19,427 ล้านบาท และ 6. แผนพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟความเร็วสูงและรถไฟทางคู่ โดยอาศัยแนวคิด Transit Oriented Development (TOD) เพื่อเพิ่มศักยภาพการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟ 177 สถานีทั่วประเทศ วงเงิน 17,326 ล้านบาท
นายปัญญา กล่าวอีกว่า งานที่อยู่ระหว่างการศึกษา 8 โครงการ ได้แก่ 1.การศึกษาจัดทำ Model การพัฒนาโครงข่ายการคมนาคมในพื้นที่กลุ่มจังหวัดทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เพื่อเชื่อมโยงกับพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภายใต้กรอบ GMS สนับสนุนการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาในพื้นที่ภาคกลาง ภาคใต้ และภาคตะวันออก คาดว่าจะแล้วเสร็จ และนำเสนอกระทรวงคมนาคมได้ภายในเดือน ส.ค. 67 ส่วนพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ คาดว่าจะแล้วเสร็จและนำเสนอกระทรวงคมนาคมได้ภายในปี 68, 2.การศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นและออกแบบแนวคิดเบื้องต้นเส้นทางท่องเที่ยวเลียบชายฝั่งทะเลอันดามัน ช่วงจังหวัดระนอง-จังหวัดสตูล (Andaman Riviera) ขณะนี้โครงการอยู่ระหว่างการศึกษา คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 68,
3. การศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองหลักในภูมิภาค เพื่อให้มีฐานข้อมูลการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะและข้อมูลการจราจรในเขตเมืองหลักในภูมิภาคที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน4.การศึกษาจัดทำแผนพัฒนาการเชื่อมโยงและเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมรองรับ EEC เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้าจากถนนไปสู่ทางรางและทางน้ำให้เพิ่มมากขึ้น 5.การศึกษาเพื่อจัดทำข้อมูลฐาน (Baseline Data) และการประเมิน (Tracking) การลดก๊าซเรือนกระจกจากมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของยานพาหนะ
6.การศึกษาเพื่อพัฒนาศูนย์ข้อมูลคมนาคมของประเทศไทย (Transport Data Center) เพื่อจัดทำศูนย์ข้อมูลคมนาคมของประเทศไทย (Transport Data Center) สำหรับเผยแพร่ข้อมูลสารสนเทศด้านคมนาคมแก่ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน และใช้ประกอบการพิจารณาจัดทำนโยบายและแผนด้านคมนาคม รวมทั้งเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในระดับนโยบายของผู้บริหารของกระทรวงคมนาคม 7.การพัฒนาระบบการจราจรและขนส่งอัจฉริยะ(Intelligent Transport System : ITS) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการจราจรและขนส่ง ในพื้นที่กลุ่มจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง
และ 8. โครงการ Landbridge ได้ดำเนินการศึกษาและวางแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมโยงการขนส่ง ระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (ชุมพร – ระนอง) ในรูปแบบ One Port Two Sides ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และจะนำเสนอ ครม. ในปี 68 เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการให้ สนข. ดำเนินการเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากเอกชน ทั้งนี้ตามแผนจะเริ่มก่อสร้างในปี 68 และจะก่อสร้างแล้วเสร็จ พร้อมเปิดให้บริการในปี73
นายปัญญา กล่าวด้วยว่า สำหรับงานที่จะดำเนินการศึกษาในอนาคต มี 3 โครงการ ได้แก่ 1. การศึกษาเพื่อจัดทำกรอบการดำเนินงาน และระบบบริหารจัดการภัยพิบัติที่ส่งผลกระทบต่อภาคคมนาคมอย่างยั่งยืน (ระยะที่ 1) เพื่อจัดทำกรอบการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติในภาคคมนาคม โดยมีแผนปฏิบัติการ แบ่งเป็น 3 ระยะ และจัดทำข้อมูลระบบการรายงานและบริหารจัดการข้อมูลภัยพิบัติให้มีประสิทธิภาพ และจัดทำแบบจำลอง 2.การพัฒนาระบบเพิ่มสัดส่วนการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะในพื้นที่ กทม. และพื้นที่ต่อเนื่อง 3.การพัฒนารูปแบบการกำกับดูแล และการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม
ทั้งนี้ สนข. พร้อมผลักดันขับเคลื่อนแผนงานด้านคมนาคมที่สำคัญต่างๆ ไปสู่การปฏิบัติที่สอดคล้องตามนโยบายรัฐบาล และกระทรวงคมนาคม คือ ต้องพลิกโฉมระบบคมนาคมทั่วประเทศ มุ่งเน้นการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน และเชื่อมโยงการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว ทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป.