เมื่อวันที่ 31 ก.ค.นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ ตนได้รับมอบหมายจาก ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการกพฐ. ให้เปิดการแข่งขันทักษะวิชาการนักเรียน ในการประชุมวิชาการการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปี 2567 ระดับภูมิภาค : ภาคกลาง ณ โรงเรียนวัดชินวราราม (เจริญผลวิทยาเวศม์) จังหวัดปทุมธานี ซึ่งการแข่งขันทักษะวิชาการนักเรียนฯ ในครั้งนี้ สืบเนื่องด้วยโครงการส่วนพระองค์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้จัดการประชุมวิชาการการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นประจำทุกปี โดยในปี พ.ศ. 2567 โครงการส่วนพระองค์และหน่วยงานที่ร่วมสนองพระราชดำริ น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารมาอย่างต่อเนื่อง
ผู้ช่วยเลขาธิการกพฐ.กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้จึงได้ร่วมกันจัดการประชุมวิชาการการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริฯ ประจำปี 2567 รวมถึงดำเนินการคัดเลือกแนวปฏิบัติที่ดีรายด้านของครู และกิจกรรมการแข่งขันทักษะวิชาการนักเรียน โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้มอบหมายให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปทุมธานี เขต 1 ดำเนินการแข่งขันทักษะวิชาการนักเรียน ระดับภูมิภาค เพื่อคัดเลือกผลงานนักเรียนเป็นตัวแทนเข้าแข่งขันระดับประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมศักยภาพทักษะทางวิชาการนักเรียนของนักเรียนในโรงเรียนโครงการตามพระราชดำริ และคัดเลือกผลงานนักเรียน เป็นตัวแทนภาคกลางเข้าร่วมแข่งขันในระดับประเทศ โดยมีครูและนักเรียนจากโรงเรียนในโครงการตามพระราชดำริในสังกัด สพป.กรุงเทพมหานคร สพป.กาญจนบุรี เขต 1 สพป.นครนายก สพป.ปทุมธานี เขต 1 สพป.ปทุมธานี เขต 2 สพป.ประจวบคีรีขันธ์ เขต 2 สพป.พระนครศรีอยุธยา เขต 2 และ สพป.สระแก้ว เขต 1 จำนวน 8 เขตพื้นที่การศึกษา รวม 42 โรงเรียน ซึ่งมีนักเรียนเข้าร่วมการแข่งขันทักษะวิชาการ กิจกรรมการวาดภาพ กิจกรรมการคัดลายมือ กิจกรรมการเขียนเรียงความภาษาไทย กิจกรรมการเขียนเรียงความภาษาอังกฤษ และการนำเสนอผลงานนักเรียน จำนวน 330 คน.
นายภูธร กล่าวอีกว่า สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า ทรงให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กและเยาวชนในพื้นที่ห่างไกล เพื่อให้มีโอกาสด้านการศึกษาและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อีกทั้งยังทรงริเริ่ม “แผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร” ที่ครอบคลุมทั้งด้านการเกษตร สุขภาพอนามัย การศึกษา สหกรณ์ การงานอาชีพ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนวัฒนธรรมท้องถิ่นในโรงเรียน การดำเนินงานพัฒนาเด็กและเยาวชน ตามพระราชดำริ ใช้สถานศึกษาเป็นฐานของการพัฒนา เนื่องจากสถานศึกษาเป็นที่รวมเด็กของชุมชน ทำให้เข้าถึงเด็กได้ง่ายและครอบคลุมได้ทั้งหมด ง่ายต่อการดำเนินงาน เป็นแหล่งที่มีผู้มีความรู้ คือครู ซึ่งเป็นแกนสำคัญในการถ่ายทอดความรู้ และพัฒนาทักษะต่างๆ ให้แก่เด็ก และที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือเป็นสถานที่ที่คนในชุมชนเข้าถึงได้ง่าย จึงสามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนได้ ดังนั้นพื้นที่เป้าหมายในการดำเนินงานจึงประกอบด้วยสถานศึกษาในสังกัดต่าง ๆ รวมทั้งหมู่บ้านในเขตบริการการศึกษาของสถานศึกษาเหล่านั้นด้วย
“จากการแข่งขันทักษะวิชาการนักเรียนฯ ทำให้เห็นว่านักเรียนได้แสดงความสามารถในด้านภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และด้านการนำเสนอผลงาน ตามคำนิยามภูมิปัญญา 9 ด้าน ภายใต้แผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริ ฯ อย่างเต็มตามศักยภาพของนักเรียน แสดงให้เห็นว่าทางโรงเรียนและเขตพื้นที่ได้ขับเคลื่อนตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของพ.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. รวมถึงนโยบายและจุดเน้นของ สพฐ. โดยว่าที่ร้อยตรีธนุ ได้เป็นอย่างดี ขอชื่นชมทั้ง 8 เขตพื้นที่และ 42 โรงเรียน ที่จัดการเรียนการสอนให้นักเรียนได้รับการพัฒนาทักษะอย่างเต็มศักยภาพรอบด้าน ทั้งด้านทักษะวิชาการ ทักษะชีวิต รวมถึงมีร่างกายและจิตใจที่แข็งแรง พร้อมเป็นพลเมืองดีของสังคมต่อไป” ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. กล่าว