เป็นกลุ่มอาชีพที่ทวีความสำคัญขึ้นเรื่อย ๆ ในฐานะรากฐานของพัฒนาการของนวัตกรรมต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อภาคเศรษฐกิจและสังคม ส่งผลให้มีความต้องการบุคลากรอีกเป็นจำนวนมาก แต่จำนวนของผู้หญิงที่ประกอบอาชีพในสาขา STEM นั้นยังมีสัดส่วนค่อนข้างน้อย

เห็นได้จากรายงานดัชนีช่องว่างระหว่างเพศประจำปี 66 โดยสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ระบุว่า จากการจ้างงานทั้งหมดในกลุ่มอาชีพ STEM มีเพียง 29.2% เท่านั้นที่เป็นแรงงานหญิง แตกต่างจากการจ้างงานในสายอาชีพนอกกลุ่ม STEM ซึ่งมีแรงงานหญิงมากถึง 49.3% หรือเกือบครึ่งของการจ้างงานทั้งหมด ซึ่งการศึกษา และงานวิจัยอีกหลายชิ้นยังพบว่า เด็กผู้หญิงในระดับประถมศึกษาและมัธยมต้นมักจะมีความสนใจด้าน STEM ในระดับเดียวกับเด็กผู้ชายวัยเดียวกัน แต่จะค่อย ๆ ลดลงเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น เนื่องจากพบความท้าทายในระดับปัจเจกและสังคม ที่อาจจะทำให้การจินตนาการถึงอนาคตสาย STEM เป็นไปได้ยากสำหรับเด็กผู้หญิง

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ Sea (ประเทศไทย) ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตแพลตฟอร์มชั้นนำ เช่น การีนา ช้อปปี้ และซีมันนี่ เห็นถึงความต้องการส่งเสริมความหลากหลายทางเพศในโลกของ STEM และ InsKru คอมมูนิตี้แบ่งปันไอเดียการสอนสำหรับคนรักการเรียนรู้ ร่วมดำเนินโครงการ Women Made: Girl in STEM เปิดมุมมองและสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กผู้หญิงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น อยู่ในช่วงวัยที่กำลังค้นหาตัวเองในการเลือกเส้นทางการศึกษาต่อสาขาอาชีพ STEM

ทั้งนี้ได้เปิดเวทีเสวนา เพื่อแบ่งปันประสบการณ์จริงจากผู้ที่ประสบความสำเร็จในสายอาชีพ STEM รวมถึงกิจกรรมห้องสมุดมนุษย์ เปิดโอกาสให้นักเรียนได้พูดคุยอย่างเป็นกันเอง กับคนทำงานจริงในแวดวง STEM หรือเรียกว่าพี่ต้นแบบ 9 อาชีพ ได้แก่ โปรแกรมเมอร์ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล วิศวกรด้านความมั่นคงและปลอดภัยทางไซเบอร์ นักวิจัยนาโนเทคโนโลยี วิศวกรเสียง นักนิติวิทยาศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์เภสัชวิทยาภูมิคุ้มกัน วิศวกรการบินและอวกาศ และนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร เพื่อทำความรู้จักกับการทำงานในแต่ละสายอาชีพ ทั้งเส้นทางการศึกษา แนวทางการทำงาน รวมถึงทักษะที่จำเป็นต่าง ๆ ในการประกอบอาชีพ

“ชนิตา อนุวงศ์” โปรแกรมเมอร์ จาก ODDS Team และหนึ่งในพี่ ๆ ต้นแบบจากกิจกรรมห้องสมุดมนุษย์ ได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ให้กับน้อง ๆ ที่เข้าร่วมโครงการว่า สายงานทางด้านโปรแกรมเมอร์มีโอกาสให้เติบโตได้มากมาย เนื่องจากทุกธุรกิจจำเป็นต้องใช้ซอฟต์แวร์ในการปฏิบัติงานและดำเนินธุรกิจ รวมไปถึงการออกแบบแอปพลิเคชันต่าง ๆ ซึ่งต่างต้องการผู้เชี่ยวชาญในสายงานด้านโปรแกรมเมอร์ทั้งสิ้น ปัจจุบันพบว่า ผู้หญิงให้ความสนใจอาชีพนี้มากขึ้นในปัจจุบัน จุดเด่นของผู้หญิง คือ มีความละเอียดในการทำงานและทักษะการทำงานร่วมกันเป็นทีม โดยคนที่จะประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพนี้จะต้องเป็นคนที่คิดอย่างเป็นระบบ แต่ไม่จำเป็นต้องเก่งด้านคณิตศาสตร์แบบหาตัวจับยากก็ได้

ส่วนจุดเด่นของอาชีพนี้คือความยืดหยุ่นในการทำงาน และทำงานได้ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เรียกได้ว่าไม่มีวันเกษียณอายุ เนื่องจากประสบการณ์ในการพัฒนาซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชันต่าง ๆ จะเพิ่มมากขึ้นตามอายุงาน รวมถึงรายได้ที่สูงขึ้นตาม
ไปด้วย

ดร.สกลกฤษณ์ เอกจักรวาล ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรมนิติวิทยาศาสตร์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า นักนิติวิทยาศาสตร์เป็นการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ในการอธิบายและพิสูจน์หลักฐานในกระบวนการยุติธรรม แม้การเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์อาจจะดูน่าเบื่อสำหรับนักเรียนมัธยมศึกษา แต่หากคิดว่าจะนำความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ไปต่อยอดในด้านใดต่อ จะทำให้นักเรียนเกิดความสนุกกับการเรียนได้มากขึ้น ดังเช่นตนที่มีความถนัดในวิชาฟิสิกส์ และในช่วงที่เรียนอยู่ชั้นปีที่ 3 ก็ได้ค้นพบว่าความรู้ทางด้านฟิสิกส์สามารถนำมาปรับใช้กับการประกอบอาชีพตำรวจพิสูจน์หลักฐานได้ อาทิ การตรวจสอบวิถีของกระสุนปืน การตรวจจับความเร็ว ฯลฯ เพื่อใช้อธิบายคดีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น โดยเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายมีความสามารถในการทำงานด้านนิติวิทยาศาสตร์อย่างทัดเทียมกัน โดยปัจจุบัน บุคลากรทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยยังถือว่าขาดแคลน.