เมื่อวันที่ 31 ก.ค. ที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ส่วนที่ 2 งานก่อสร้างอาคาร ท่าเทียบเรือ ระบบถนน และระบบสาธารณูปโภค ระหว่าง กทท. และบริษัท ซีเอซอีซี (ไทย) จำกัด โดยมีนายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการ กทท. และนายหวัง ไห่กวง กรรมการผู้จัดการบริษัท ซีเอซอีซีฯ เป็นผู้ลงนาม ซึ่งงานส่วนนี้ จะทำให้ท่าเรือมีโครงสร้างพื้นฐาน และสิ่งอำนวยความสะดวก ตลอดจนโครงข่ายและระบบการขนส่งที่ต่อเนื่อง พร้อมรองรับการขยายตัวของปริมาณสินค้าทางเรือ และทางรถไฟต่อไป
นายเกรียงไกร กล่าวว่า งานส่วนที่ 2 ประกอบด้วยงานหลักที่สำคัญ อาทิ งานระบบถนน งานอาคาร งานระบบสาธารณูปโภค งานท่าเทียบเรือชายฝั่ง และงานท่าเทียบเรือบริการ รวมการวางระบบการเชื่อมโยงเครือข่ายการขนส่งสินค้าภายในประเทศ เพื่อรองรับการสร้างรางรถไฟเข้าไปถึงบริเวณหลังท่าเทียบเรือ วงเงินประมาณ 7,298 ล้านบาท ทั้งนี้ ซีเอซอีซีต้องก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 1,260 วัน นับถัดจากวันที่ได้รับหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน(NTP) จาก กทท. เบื้องต้นภายใน 1 เดือน หลังจากนี้ซีเอซอีซี จะลงพื้นที่สำรวจพื้นที่จริง และจัดทำแผนงานว่าจะเริ่มพื้นที่ใดก่อนภายใน 1 เดือน จากนั้น กทท. จะออก NTP ให้ และคาดว่าเอกชนจะเริ่มก่อสร้างประมาณเดือน ต.ค. 67 โดยจะพยายามเร่งรัดงานให้แล้วเสร็จกว่าแผนประมาณเดือน ธ.ค. 70
นายเกรียงไกร กล่าวต่อว่า สำหรับภาพรวมการดำเนินโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟสที่ 3 นั้น ขณะนี้งานส่วนที่ 1 งานก่อสร้างงานทางทะเล ดำเนินการโดยกิจการร่วมค้า CNNC มีความคืบหน้าประมาณ 37% คาดว่าจะส่งมอบพื้นที่ถทมะเล 3 (Key Date 3) ได้ประมาณเดือน ก.ย. 67 ส่วนงานที่ 3 งานก่อสร้างระบบรถไฟ และงานที่ 4 งานจัดหาเครื่องมือ พร้อมจัดหาและติดตั้งระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ อยู่ระหว่างการจัดทำร่างรายะเอียดการประกวดราคา(TOR) คาดว่าจะเปิดประมูลทั้ง 2 ส่วนงานได้ประมาณต้นปี 68 ทั้งนี้ กทท. ยังคงเป้าหมายที่จะเปิดให้บริการท่าเทียบเรือ F ได้ภายในปลายปี 70 ไม่เกินต้นปี 71 ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถท่าเรือแหลมฉบัง ในการรองรับตู้สินค้าได้เพิ่มอีก 4 ล้านทีอียูต่อปี จากปัจจุบัน 11 ล้านทีอียูต่อปี
ด้านนายหวัง กล่าวว่า ในปีนี้บริษัทฯ ครบรอบการก่อตั้งเป็นปีที่ 30 ซึ่งครั้งหนึ่งได้เคยก่อสร้างท่าเทียบเรือให้กับบริษัท ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย ซึ่งถือเป็นท่าเทียบเรือที่ทันสมัยแห่งหนึ่งในประเทศไทย และในปีนี้นับเป็นความภาคภูมิใจอีกครั้ง ที่ได้ร่วมดำเนินการโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ส่วนที่ 2 เป็นเมกะโปรเจกต์ที่สำคัญของประเทศไทย อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่าจะสามารถดำเนินการก่อสร้างงานส่วนที่ 2 ให้ได้มาตรฐาน และสำเร็จลุล่วงตามกรอบระยะเวลาตามสัญญาที่กำหนดได้อย่างแน่นอน