เมื่อวันที่ 31 ก.ค. นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้ดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งจะเปิดให้ประชาชน ผู้สนใจลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ในวันที่ 1 ส.ค. ผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” นั้น และจุดให้บริการวอล์กอิน ของหน่วยงานรัฐนั้น ล่าสุดจากการติดตามตรวจสอบสื่อสังคมออนไลน์ หรือ โซเชียลต่างๆ พบการกระทำต้องสงสัย ที่เกี่ยวข้องกับการก่ออาชญากรรมออนไลน์ อาทิ 1.การจัดตั้งกลุ่ม หรือ แฟนเพจเฟซบุ๊ก แอบอ้างให้ความรู้ ข้อมูลเรื่องโครงการดิจิทัลวอลเล็ต โดยใช้บัญชีแอคเคานท์ที่ไม่เปิดเผยตัวตน เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ 2.การแชร์ และเผยแพร่ลิงก์ข่าวที่มีข้อมูลบิดเบือน ข่าวปลอมที่เกี่ยวข้องกับโครงการฯ และ 3.การโพสต์ข้อความหลอกลวง ให้ช่วยเหลือประชาชนในการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ
ทั้งนี้ กระทรวงดีอี ขอแจ้งเตือนประชาชน อย่าหลงเชื่อรูปแบบการหลอกลวงต่างๆ ที่แอบอ้างว่าเป็นการช่วยเหลือ การลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ โดยขอย้ำว่า ประชาชนผู้ที่มีสมาร์ตโฟน ผู้สนใจเข้าร่วมโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ต้องสมัครยืนยันตัวตน และลงทะเบียนด้วยตนเองในแอปทางรัฐ เท่านั้น ซึ่งจะเปิดให้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.-15 ก.ย. 67 โดยสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ได้โดยตรงจากระบบปฏิบัติการไอโอเอส ที่ แอปสโตร์ และระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ที่กูเกิลเพลย์
นายประเสริฐ กล่าวต่อว่า รัฐบาลได้เปิดจุดให้บริการ (Walk-in) สอบถามข้อมูล และให้บริการรับลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ผ่าน 1.ศูนย์ดิจิทัลชุมชน จำนวน 1,722 ศูนย์ทั่วประเทศ 2.ที่ทำการไปรษณีย์ จำนวน 1,200 แห่ง ทั่วประเทศ (ยกเว้น ไปรษณีย์อนุญาต เอกชน และร้านค้าให้บริการ) 3.ธนาคารออมสิน 1,047 แห่ง ทั่วประเทศ และ 4.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 1,238 แห่งทั่วประเทศ รวมจำนวนจุดให้บริการทั้งหมด 5,207 แห่งทั่วประเทศ (ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 31 ก.ค.) และสามารถดูข้อมูลโดยตรงจากรัฐบาล ในเว็บไซต์ www.digitalwallet.go.th หรือ www.กระเป๋าเงินดิจิทัล.รัฐบาล.ไทย และสอบถามรายละเอียด โทรฯ สายด่วน ดิจิทัลวอลเล็ต 1111 ตลอด 24 ชั่วโมง
“กระทรวงดีอี ตรวจพบการกระทำที่เข้าข่ายเป็นการก่ออาชญกรรมออนไลน์ การหลอกลวงในแพลตฟอร์มโซเชียล และสื่อสังคมออนไลน์ รวมทั้งข่าวบิดเบือนข้อมูลของโครงการฯ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะสร้างความเข้าใจผิดให้กับประชาชน และมีผลกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้าง จึงขอเตือนประชาชน ที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมผ่านช่องทางที่รัฐบาล กระทรวงดีอี และกระทรวงการคลัง รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้กำหนดไว้อย่างเป็นทางการ และแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” เท่านั้น อย่าหลงเชื่อมิจฉาชีพ หลอกลวงส่งลิงก์ หรือแพลตฟอร์มปลอมต่างๆ โดยอ้างว่าเป็นช่องทางการลงทะเบียน หรือข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับโครงการฯ ซึ่งอาจมีผลให้ข้อมูลส่วนบุคคลหลุดรอด หรือสูญเสียทรัพย์สินได้” นายประเสริฐ กล่าว