เมื่อวันที่ 30 ก.ค.67 ที่โรงแรม Pullman Bangkok King Power กทม. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ได้เปิดงานสัมมนา เรื่อง “Competency Development for Lifelong Learning and Future of Jobs” จัดโดย สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ใจความตอนหนึ่งว่า เราอยู่ในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงสูง เรายืนที่เดิมไม่รอด ดีเท่าเดิมไม่พอ รู้เท่าเดิมไม่ทัน และความรู้หลายอย่างที่เคยมี ก็หมดอายุ เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี การถูกแทนที่ด้วยองค์ความรู้ใหม่ และพลวัตทางวัฒนธรรม คำว่าเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่เราได้ยินกันมากว่าสองทศวรรษแล้วนั้น จึงมีความสำคัญสูงสุดในวันนี้ เพราะไม่เพียงจะทำให้ทรัพยากรมนุษย์ของเรามีความรู้และทักษะที่ทันสมัย แต่กลายเป็นปัจจัยแห่งการอยู่รอด ที่ชัดเจนขึ้นทุกวัน
นายอนุทิน กล่าวว่า การขับเคลื่อนนโยบายการเรียนรู้ตลอดชีวิตไปสู่การปฏิบัติ การพัฒนาสมรรถนะอาชีพเพื่อนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำ รวมถึงการพัฒนาสมรรถนะด้านดิจิทัลให้รองรับความเปลี่ยนแปลงนั้น เป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกฝ่าย โดยมีภาครัฐเป็นผู้สนับสนุนการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย และเชื่อมประสานศักยภาพ โดยเฉพาะการเชื่อมโยง โลกแห่งการฝึกอบรม กับโลกแห่งการทำงาน ซึ่งล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้การพัฒนากำลังคนประสบความสำเร็จ
นายอนุทิน กล่าวว่า ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลหน่วยงานพัฒนาทุนมนุษย์ของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงโลกแห่งอาชีพและการศึกษา เป็นอย่างยิ่ง การจัดการศึกษาไม่ได้มีเป้าหมายเพียงแค่ทำให้ผู้เรียนได้มีความรู้ แต่ต้องนำสู่การมีงานทำ และบ่มเพาะ ความสามารถในการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนมีความทันสมัย และแรงบันดาลใจใหม่ๆอยู่เสมอ ซึ่งสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพเป็นหน่วยงานที่มีพันธกิจในการพัฒนาคนทำงาน โดยเน้นการรับรองสมรรถนะตามมาตรฐานอาชีพ และการให้คุณวุฒิวิชาชีพกับคนทำงาน ตามระดับความรู้และความสามารถในอาชีพต่างๆ อันจะนำไปสู่การพัฒนาสมรรถนะอย่างตรงจุด และมีทิศทางตามนโยบายรัฐบาล จึงเป็นเจ้าภาพที่เหมาะสมที่สุด สำหรับความพยายามที่เรามีร่วมกันในครั้งนี้
“หลายหน่วยงานในประเทศไทยกำลังผลักดันระบบ credit bank เพื่อให้คนทุกคน ในทุกช่วงวัย เก็บสะสมความสำเร็จในการเรียนและการพัฒนาสมรรถนะต่างๆไว้อย่างเป็นระบบ เพื่อนำไปต่อยอด สร้างโอกาสได้ วันนี้นับเป็นโอกาสอันดีที่เราจะมาคิดร่วมกันว่า จะเชื่อมต่อระบบ credit bank ของแต่ละหน่วยงานอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับนักเรียน นักศึกษา คนทำงาน คนหางาน และกลุ่มที่ขาดโอกาส ประสบการณ์จากหลายประเทศได้ชี้ให้เห็นว่า credit bank เป็นเรื่องของหลายภาคส่วนและหลายระดับ มีทั้งมิติการผลักดันเชิงนโยบาย การวางกฎเกณฑ์และกรอบบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การประกันคุณภาพ ตลอดจนการเชื่อมโยงระหว่างคุณวุฒิและประกาศนียบัตรแบบต่างๆ” นายอนุทิน กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ ระบบ Credit Banks หรือธนาคารหน่วยกิตการศึกษา เป็นระบบที่ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ให้กำลังแรงงานสามารถนำผลการเรียนรู้และประสบการณ์จากการประกอบอาชีพที่หลากหลายรูปแบบมาเทียบโอนเป็นหน่วยกิต ตามหลักเกณฑ์เพื่อเก็บสะสมไว้ในการขอรับรองคุณวุฒิทางการศึกษาที่สูงขึ้น จะทำให้แรงงานที่อยู่นอกระบบการศึกษา แต่ที่มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์ในการทำงานที่ยาวนานผ่านการฝึกอบรม และทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงานแล้ว นำมาเทียบโอนหน่วยกิต เพื่อปรับวุฒิการศึกษาในระดับปริญญาตรี สามารถลดระยะเวลาการเรียน ลดค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง เพิ่มโอกาสในการเลื่อนระดับ ความก้าวหน้าในอาชีพ.