นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า จากมติคณะรัฐมนตรีอนุมัติปรับเงื่อนไขกองทุนไทยอีเอสจีใหม่ในระยะสั้นตลาดหุ้นไทยยังไม่ตอบรับกับเรื่องดังกล่าว เพราะส่วนใหญ่นักลงทุนหลักอย่างกลุ่มสถาบันจะซื้อกองทุนเพื่อลดหย่อนภาษีในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีหรือไตรมาส 4 และเงื่อนไขกองทุนดังกล่าวลงทุนได้ทั้งตราสารหนี้ พันธบัตร และหุ้นด้านความยั่งยืน ซึ่งแตกต่างไปจากกองทุนแอลทีเอฟที่ลงทุนได้เฉพาะตลาดทุน ทำให้มองว่ารัฐบาลจะต้องเผื่อใจว่าเงินที่ได้อาจเข้าไปอยู่ในตราสารหนี้ และพันธบัตร ทำให้เงินที่จะเข้ามาในตลาดหุ้นไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ อีกทั้งบริษัทจดทะเบียนมีโอกาสที่จะเปิดขายกองทุนกลุ่มอีเอสจีเพิ่มมากขึ้นเพื่อดึงดูดการลงทุน
“ส่วนเม็ดเงินที่คาดว่าจะไหลเข้ามาปีละ 40,000-50,000 ล้านบาท ก็เชื่อว่าไม่ถึงเป้าหมาย เพราะหากเปรียบเทียบกับไทยอีเอสจีเงื่อนไขเดิมเมื่อปีที่แล้วมีเม็ดเงินเข้ามากว่า 6,000 ล้านบาทเท่านั้น หลังจากลดหย่อนภาษีได้คนละ 100,000 บาท ส่วนเงื่อนไขใหม่เพิ่มเป็น 300,000 บาทนั้นจึงเชื่อว่าจะมีเม็ดเงินเข้ามาปีละประมาณ 18,000-20,000 ล้านบาทเท่านั้น”
อย่างไรก็ตาม มองว่ากองทุนดังกล่าวที่ปรับเงื่อนไขใหม่เพื่อช่วยกระตุ้นตลาดหุ้นไทยนี้ มีดีกว่าไม่มีและเชื่อว่าไม่ได้ช่วยหนุนดัชนีหุ้นไทยมากนัก ทำให้ไตรมาส 3 นี้ประเมินว่าดัชนีหุ้นเคลื่อนไหวในกรอบแนวรับ 1,240-1,270 จุด แนวต้าน 1,340-1,370 จุด เพราะสิ่งสำคัญที่นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศรอคอยมากที่สุดคือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ที่คาดว่าจะเห็นในช่วงไตรมาส 4 ทั้งด้านการเบิกจ่ายงบประมาณ การท่องเที่ยว โครงการเงินดิจิทัล จึงคาดการณ์เป้าหมายดัชนีหุ้นไทยปีนี้มีโอกาสขึ้นมาสูงได้เพียง 1,480 จุดเท่านั้น
นายณัฐชาต กล่าวว่า หุ้นที่ได้ประโยชน์จากกองทุนไทยอีเอสจีโดยเฉพาะช่วงไตรมาส 4 นั้น ส่วนใหญ่เป็นหุ้นที่ได้รับการจัดอันดับอีเอสจี เรตติ้ง ซึ่งในเดือน พ.ย. จะมีการประกาศรอบใหม่ โดย 90% จะเป็นหุ้นขนาดใหญ่ที่กระจุกตัวอยู่ในดัชนีสำคัญ ได้แก่ เซ็ต50, เซ็ต100 และเซ็ตอีเอสจี