เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 30 ก.ค. 67 นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และนายวัชระพล ขาวขำ สส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 สภาผู้แทนราษฎร แถลงความคืบหน้าการพิจารณาว่า กมธ. ใช้เวลาพิจารณาไปแล้วทั้งสิ้น 22 วัน รวม 178 ชั่วโมง มีหน่วยงานที่ผ่านการพิจารณาไปแล้ว 258 หน่วยงาน 18 กองทุน และงบกลาง 11 รายการ คิดเป็น ร้อยละ 9.46 สำหรับการประชุมในสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการพิจารณางบประมาณของ 4 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงพลังงาน กระทรวงยุติธรรม กระทรวงแรงงาน และกระทรวงสาธารณสุข
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า โดยที่ประชุมมีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานที่เข้าพิจารณา ดังนี้ 1.กระทรวงพลังงาน สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน พิจารณาศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการร่วมกิจการของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) มารวมไว้ที่กระทรวงพลังงาน เพื่อให้เกิดการบริหารกิจการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและเอกภาพมากกว่าในปัจจุบัน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน การพิจารณาแผนพัฒนาพลังงานไฟฟ้า หรือแผน PDP ควรพิจารณาบนพื้นฐานของข้อมูลที่มีความทันสมัย โดยเฉพาะจำนวนของประชากรที่มีผลต่อการพยากรณ์ความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าในอนาคต กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ควรพิจารณาอนุมัติใบอนุญาตให้ก่อตั้งโรงงานผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์โดยเร็ว เพื่อสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดและสร้างรายได้ให้กับประชาชน
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า กระทรวงยุติธรรม สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม โครงการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ที่ได้รับการพักการลงโทษ และผู้พ้นกระบวนการพัฒนาพฤตินิสัย ควรเปลี่ยนคำว่า “สร้างมูลค่าเพิ่ม” เป็น “เพิ่มทักษะ up skill” กรมราชทัณฑ์ ควรมีการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานเอกชน กระทรวงแรงงาน สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพเพื่อจัดทำหลักสูตรออนไลน์หรืออบรมหลักสูตรระยะสั้นแล้วนำมาพิจารณาลดโทษให้กับนักโทษที่อยู่ในเรือนจำหรือในสถานพินิจ เพื่อแก้ปัญหานักโทษล้นคุก สำหรับประเด็น บัญชีม้า ที่มีการหลอกลวงประชาชนให้เสียทรัพย์สินและสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนจำนวนมาก ควรให้กรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นหน่วยงานหลักในการปราบปราม และควรพิจารณารับคดีแก๊งคอลเซ็นเตอร์เป็นคดีพิเศษ เพื่อให้กระบวนการตรวจสอบมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า สำหรับกระทรวงแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน การส่งแรงงานไทยไปต่างประเทศ ควรคำนึงถึงสิทธิแรงงานและติดตามที่อยู่ของไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อจะได้ให้ความช่วยเหลือได้ทัน และควรมีมาตรการในการแก้ปัญหาแรงงานไม่เพียงพออย่างยั่งยืน ประเด็นที่ควรแก้ไขโดยเร่งด่วนคือหลักสูตรการเรียนการสอนที่ไม่สอดคล้องตลาดแรงงาน โดย กมธ. เสนอให้กระทรวงแรงงานทำข้อมูลกลางร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพาณิชย์ เพื่อคาดการณ์ตลาดแรงงานและกำหนดหลักสูตรการศึกษาให้สอดคล้องกับตลาดแรงงาน สำหรับกรณีข้อมูลแรงงานเถื่อนในประเทศไทยที่มีการลักลอบเข้าเมืองตลอดเวลาซึ่งหน่วยงานของรัฐยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนในส่วนนี้เพราะฉะนั้นกรมการหางานควรมีมาตรการเปิดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวสำหรับคนกลุ่มนี้ สำหรับในวันนี้ คณะ กมธ. พิจารณางบประมาณของกระทรวงสาธารณสุขต่อเนื่องจากวันที่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมา
“ทั้งนี้ กมธ. คาดการณ์ว่าจะพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ทั้งฉบับเสร็จสิ้นในช่วงประมาณวันที่ 16 ส.ค. 67 และจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ในวาระ 2-3 ในช่วงต้นเดือน ก.ย. 67” นายอนุสรณ์ กล่าว.