สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงอังการา ประเทศตุรกี เมื่อวันที่ 30 ก.ค. ว่า มาตราที่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของร่างกฎหมายว่าด้วยชะตากรรมของสัตว์ ระบุว่า สัตว์ที่ป่วย หรือถือว่าก้าวร้าว จะต้องถูกกำจัด ขณะที่รัฐสภาตุรกี จะพิจารณาร่างกฎหมายส่วนที่เหลือในวันนี้ (30 ก.ค.) และคาดว่าจะได้รับการรับรองในอีกไม่กี่วันข้างหน้า
รัฐบาลอังการา ระบุว่า ตุรกีจำเป็นต้องมีการการุณยฆาตสัตว์ เพื่อป้องกันการโจมตีของสุนัข และการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า พร้อมกับเสริมว่า สุนัขจรจัดตัวอื่น ๆ คววรถูกจับไปไว้ที่สถานสงเคราะห์สัตว์ และประกาศให้ผู้คนรับพวกมันไปเลี้ยง
อย่างไรก็ตาม นักวิจารณ์หลายคนกล่าวว่า การพึ่งพาสถานสงเคราะห์สัตว์ และการรับเลี้ยง ไม่สามารถปฏิบัติได้ในท้ายที่สุด เนื่องจากสุนัขจรจัดในประเทศมีจำนวนมาก
ขณะเดียวกัน กลุ่มนักรณรงค์สิทธิสัตว์ แสดงกังวลว่าร่างกฎหมายดังกล่าว จะเป็นการปกปิดการฆ่าสัตว์จำนวนมาก และสนับสนุนให้รัฐบาลดำเนินการทำหมันแทน
ด้านประธานาธิบดีเรเซป เทย์ยิป เออร์โดกัน ผู้นำตุรกี กล่าวก่อนการอภิปรายร่างกฎหมายว่า ตุรกีเผชิญกับ “ปัญหาที่ไม่เหมือนประเทศที่เจริญแล้ว” และปัญหานี้กำลังรุนแรงยิ่งขึ้นอย่างมาก เช่นเดียวกับพรรคความยุติธรรมและการพัฒนา (เอเคพี) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล ที่ระบุว่า ประชาชนต้องการ “ถนนที่ปลอดภัย”
กระนั้น พรรคสาธารณรัฐประชาชน (ซีเอชพี) ที่เป็นแกนนำฝ่ายค้าน รวมถึงควบคุมเมืองอิสตันบูล และเมืองใหญ่แห่งอื่น ระบุว่า นายกเทศมนตรีของพรรค จะไม่บังคับใช้กฎหมายนี้ แม้รัฐบาลอังการาชี้แจงว่า นายกเทศมนตรีที่ไม่ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายข้างต้น อาจถูกจำคุกก็ตาม.
เครดิตภาพ : AFP