สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 28 ก.ค. ว่าสำนักข่าวยอนฮัปรายงานโดยอ้างข้อมูลจากแหล่งข่าวด้านความมั่นคง ว่าศูนย์บัญชาการข่าวกรองกลาโหมเกาหลีตรวจพบ “การล่วงละเมิดทางข่าวกรอง” ภายในกองทัพเกาหลีใต้ ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 1 เดือนที่แล้ว ซึ่งข้อมูลที่คนร้ายจารกรรมออกไป รวมถึงข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าหน้าที่ข่าวกรองเกาหลีใต้ ที่ประจำการอยู่ในต่างประเทศ


ทั้งนี้ ฝ่ายความมั่นคงของเกาหลีใต้สันนิษฐานว่า ข้อมูลที่รั่วไหลออกไปนั้น “อาจไปอยู่ในมือของเกาหลีเหนือ” และกำลังมีการสืบสวนสอบสวนขยายผลอย่างละเอียด โดยมีการพุ่งเป้าไปยังเจ้าหน้าที่คนหนึ่ง ว่า “เจตนา” ปล่อยให้โน้ตบุ๊กของตัวเองเป็นเครื่องมือของการจารกรรม จากแฮกเกอร์ของเกาหลีเหนือ


รายงานของยอนฮัประบุด้วยว่า เจ้าหน้าที่ข่าวกรองของเกาหลีใต้หลายคนจำเป็นต้องเดินทางกลับก่อนกำหนด เนื่องจากปัญหาดังกล่าว ซึ่งทำให้ “ตัวตนถูกเปิดเผย” ซึ่งเจ้าหน้าที่เหล่านี้ส่วนใหญ่ปฏิบัติงานด้วยการแสดงตน ว่าเป็นนักการทูต


เมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านั้น สหรัฐ สหราชอาณาจักร และเกาหลีใต้ เพิ่งออกแถลงการณ์ร่วมกัน ว่าแฮกเกอร์ของเกาหลีเหนือปฏิบัติการ “จารกรรมข้อมูลระดับโลก” เพื่อขโมยความลับทางทหารจากหลายประเทศ แล้วนำไปใช้กับโครงการนิวเคลียร์ของตัวเอง

ย้อนกลับไปเมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา สำนักข่าวกรองแห่งชาติเกาหลีใต้ (เอ็นไอเอ) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานอัยการสูงสุดเกาหลีใต้ ออกแถลงการณ์ร่วม ว่าแฮกเกอร์ต้องสงสัยเป็นกลุ่มลาซารัส ซึ่งได้รับความสนับสนุนจากรัฐบาลเปียงยาง จารกรรมข้อมูลจากระบบคอมพิวเตอร์ของศาลแขวงแห่งหนึ่งในกรุงโซล ระหว่างเดือน ม.ค. 2564 ถึงเดือน ก.พ. 2566 ซึ่งข้อมูลที่กลุ่มแฮกเกอร์ได้ไปนั้น รวมถึงข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนจำนวนมาก


อนึ่ง เกาหลีเหนือมีสำนักงานด้านกิจการไซเบอร์เป็นของตัวเอง ก่อตั้งเมื่อช่วงกลางยุคทศวรรษที่ 1990 ปัจจุบันมีบุคลากรในสังกัดมากกว่า 6,000 คน มีรหัสเรียกว่า “สำนักงาน 121” และมีฐานปฏิบัติการในต่างประเทศด้วย รวมถึง จีน มาเลเซีย รัสเซีย อินเดีย และเบลารุส อ้างอิงตามการเปิดเผยของสหรัฐ เมื่อปี 2563.

เครดิตภาพ : AFP