กรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ภายใต้การกำกับและอำนวยการของ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มอบหมายให้ พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน ดำเนินการสืบสวนสอบสวนในคดีหมูเถื่อนและคดีเนื้อสัตว์เถื่อนนานาชนิดที่ถูกลักลอบเข้ามายังราชอาณาจักรไทยโดยผิดกฎหมาย แบ่งเป็น 3 เลขคดีพิเศษ ประกอบด้วย คดีพิเศษที่ 59/2566 หรือหมูเถื่อน 161 ตู้ คดีพิเศษที่ 126/2566 หรือคดีหมูเถื่อน 2,388 ตู้ เเละคดีพิเศษที่ 127/2566 หรือคดีเนื้อสัตว์เถื่อนนานาชนิด (หมูเถื่อน ตีนไก่สวมสิทธิ โคเถื่อน) กว่า 10,000 ตู้ เพื่อขยายผลติดตามจับกุมผู้กระทำความผิด หรือมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 และ พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 อย่างไรก็ตาม ในส่วนของคดีพิเศษที่ 59/2566 คณะพนักงานสอบสวนได้มีการแยกเป็น 9 เลขคดีพิเศษ คือ 101/2566-109/2566 เพื่อดำเนินคดีกับรายบริษัทชิปปิ้งเอกชน โดยก่อนหน้านี้พนักงานสอบสวนได้มีการส่ง 5 สำนวนให้ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง อันประกอบด้วย คดีพิเศษที่ 59/2566 คดีพิเศษที่ 101/2566 คดีพิเศษที่ 104/2566 คดีพิเศษที่ 105/2566 และคดีพิเศษที่ 106/2566 เนื่องจากพบว่ามีเจ้าหน้าที่ของรัฐจากกรมปศุสัตว์และกรมศุลกากร เข้ามาเกี่ยวข้องทุจริต ตามที่ได้มีการรายงานข่าวไปแล้วนั้น

DSIส่งอีก1สำนวนหมูเถื่อนให้ป.ป.ช.ฟันทุจริต4เจ้าหน้าที่กรมศุลฯ-กรมปศุสัตว์

ความคืบหน้าในเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 26 ก.ค. กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) โดยส่วนประชาสัมพันธ์ ได้เผยแพร่เอกสารระบุใจความว่า พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้พิจารณามีความเห็นส่งสำนวนคดีพิเศษที่ 108/2566 (รายบริษัท ศิขัณทิน เทรดดิ้ง จำกัด) และคดีพิเศษที่ 109/2566 (บริษัท สมายล์ ท็อป เค เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด) กรณี ขบวนการนำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์ (สุกร) เข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ให้สำนักงาน ป.ป.ช. ตามมติที่ประชุมคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ เนื่องจากปรากฏพยานหลักฐานน่าเชื่อว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐในกระบวนการลักลอบนำเข้ามีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิด ซึ่งเป็นบุคคลที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ซึ่งก่อนหน้านี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ส่งสำนวนคดีพิเศษเกี่ยวกับการลักลอบนำเข้าสินค้าซากสัตว์ (สุกร) เข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิชอบแล้วให้กับสำนักงาน ป.ป.ช. จำนวน 5 คดี

กรมสอบสวนคดีพิเศษ ระบุอีกว่า สำหรับคดีพิเศษที่ 108/2566 คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ได้ดำเนินคดีกับบริษัท ศิขัณทิน เทรดดิ้ง จำกัด กับพวก รวม 4 ราย และคดีพิเศษที่ 109/2566 ได้ดำเนินคดีกับบริษัท สมายล์ ท็อป เค เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด กับพวก รวม 4 ราย ในข้อหา ร่วมกันนำเข้าของที่กำลังผ่านพิธีศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยง ข้อจำกัดหรือข้อห้ามอันเกี่ยวกับของนั้น ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 และนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย ตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 และประมวลกฎหมายอาญา เหตุเกิดที่ท่าเรือแหลมฉบัง ต.ทุ่งสุขลา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ปี พ.ศ. 2565

กรมสอบสวนคดีพิเศษ ระบุต่อว่า พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รรท.อธิบดีฯ ได้กำชับและเร่งรัดการดำเนินคดีเกี่ยวกับการลักลอบนำเข้าซากสุกรทุกคดี เนื่องจากเป็นคดีนโยบายที่สำคัญของรัฐบาลรวมทั้งกระทรวงยุติธรรม ดังนั้น ในคดีพิเศษที่เหลือ คือ คดีพิเศษที่ 102/2566 103/2566 และ 107/2566 ให้คณะพนักงานสอบสวนเร่งรัดการสอบสวนและสรุปสำนวนการสอบสวน มีความเห็นทางคดีเสนอต่อผู้บังคับบัญชาให้เสร็จสิ้นภายในเดือน ก.ค.นี้ ส่วนคดีพิเศษที่ 126/2566 กรณีการนำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์ (สุกร) เข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จำนวน 2,388 ตู้ คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้ดำเนินการขอตรวจสอบข้อมูลจากต่างประเทศผ่านกระบวนการความร่วมมือทางอาญาระหว่างประเทศ (MLAT) จาก 30 ประเทศต้นทางแล้ว

นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวยังได้รับรายงานเพิ่มเติมจากคณะพนักงานสอบสวนคดีหมูเถื่อน ว่า ในบรรดาประเทศต้นทาง อาทิ ประเทศบราซิล อาร์เจนตินา เนเธอร์แลนด์ อิตาลี เดนมาร์ก เยอรมนี และฮ่องกง ที่ได้ดำเนินการขอตรวจสอบข้อมูลจากต่างประเทศผ่านกระบวนการความร่วมมือทางอาญาระหว่างประเทศ (MLAT) เพื่อขอรับข้อมูลจากกรณีที่กลุ่มผู้ต้องหาของดีเอสไอมีการสั่งนำเข้าสินค้าโดยอ้างว่าเป็นสินค้าประมงแช่แข็ง และพลาสติกพอลิเมอร์ แต่แท้จริงแล้วเป็นซากชิ้นส่วนสุกรแช่แข็งนั้น ล่าสุดคณะพนักงานสอบสวนได้เดินทางไปประชุมหารือกับผู้แทนแห่งสาธารณรัฐอิตาลี โดยผลสรุปการประชุมร่วมของคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กับ Colonel of Guardia di Finanza Mr. Roberto Ribaudo, in charge of 3rd Division Interpol at our Service (dealing with Frauds) ดังนี้

ประเด็นที่ 1 การประสานงานความร่วมมือในการรวบรวมพยานหลักฐานทึ่เกี่ยวข้อง กรณีขบวนการนำเข้าซากสัตว์ (สุกร) เข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิชอบด้วยกฎหมายนั้น ผู้แทนแห่งสาธารณรัฐอิตาลี โดยตำรวจสากลแห่งกรุงโรม (Interpol Rome) ยินดีที่จะให้ความร่วมมือในการรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้มีข้อแนะนำในการดำเนินการแบ่งออกเป็น 2 กรณี ได้แก่ ดำเนินการจัดทำคำร้องขอความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา (MLAT) เพื่อนำพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องมาประกอบสำนวนการสอบสวน และดำเนินการจัดทำคำร้องในความร่วมมือระหว่างหน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมาย (Police to Police Basis) เพื่อได้มาซึ่งข้อมูลจากการสืบสวนรวมถึงการดำเนินการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ประเด็นที่ 2 ผู้แทนตำรวจสากลแห่งกรุงโรม (Interpol Rome) ได้หารือแนวทางในการพัฒนาความเกี่ยวเนื่องแห่งคดี โดยได้มีการพิจารณาร่วมกันถึงแนวทางการจัดตั้งคณะทำงานร่วมในคดี ระหว่างผู้แทนราชอาณาจักรไทย คือ คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม และสำนักงานอัยการสูงสุด และผู้แทนจากสำนักงานยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรป (Euro Justice) เนื่องจากผลแห่งการสอบสวนที่เกี่ยวข้อง พบว่า กลุ่มผู้ต้องหาในราชอาณาจักรไทย มีการสำแดงเอกสารการนำเข้าจากหลายประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป เช่น เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก และประเทศอื่นๆ

ทั้งนี้ การจัดตั้งคณะทำงานร่วม จะทำให้กลุ่มประเทศที่เกี่ยวข้องสามารถร่วมดำเนินการสอบสวน ร่วมแบ่งปันข้อมูลในการทำงาน รวมถึงการเข้าถึงข้อมูลร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้โดยไม่ติดปัญหาด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ภายใต้กฎหมายแห่งสหภาพยุโรป EU Directive 95/46 EC (Privacy and Data Protection) และหลังจากเดินทางกลับราชอาณาจักรไทย คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ จะดำเนินการนัดหมายจากประเทศสมาชิกแห่งสหภาพยุโรปที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือร่วมกันถึงแนวทางดำเนินการที่เกี่ยวข้องต่อไป.