ยังเป็นประเด็นร้อน ที่ต้องตามติดอย่างต่อเนื่อง จากปมความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในพรรคเพื่อไทย(พท.) แม้บางคนจะมองว่า เป็นเรื่องของ “ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง” เพียงคนเดียว ที่ออกมาประกาศท้าให้พรรคต้นสังกัดขับออก หลัง “นายวัน อยู่บำรุง” ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคพท. ไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) เนื่องจากสาเหตุเดินทางไปให้กำลังใจ “บิ๊กแจ๊ส” พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ที่บ้านพักในระหว่างนับคะแนนการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)ปทุมธานี

อีกทั้งการออกมาแถลงข่าวของนักการเมืองอาวุโสที่บ้านพักริมคลองเมื่อวันที่ 24 ก.ค.ที่ผ่านมา ก็เข้มข้นและดุเดือด แถมยังพาดพิง “นายทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้มากบารมีในพรรคพท. และรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน

“ชื่อยังไม่อยากได้ยิน ไม่มีแตกหัก เขาจะมาแคร์อะไรผม แต่พร้อมดีเบต ซึ่งตอนที่อยู่ต่างประเทศก็คุยกันตลอด ไม่คุยกันก็ตอนที่กลับมา และผมไม่อยากเปิดประตูความสัมพันธ์ หากจะพูดว่าใครมีบุญคุณต่อกัน ไม่มีใครรู้ แต่ผมรู้ ฟ้าดินรู้ ใครมีบุญคุณกับใคร” คำพูดของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง

จากนั้นเพียงไม่ถึงชั่วโมง หลังนักการเมืองอาวุโสแถลงข่าวจบ “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคพท. ก็ได้ดีดร.ต.อเฉลิม ออกจากกลุ่มไลน์สส. พรรคพท. พร้อมทั้งเปิดเผยในเวลาต่อมา ถึงการตัดสินในการดีดนักการเมืองอาวุโสออกจากไลน์สส.พรรคพท. “เห็นข่าวก็รู้สึกว่าไม่อยากให้คนในพรรคหรือคนทำงานบั่นทอน โดยก่อนหน้านี้ร.ต.อ.เฉลิมก็ได้ส่งข้อความเข้ามาในกลุ่มไลน์ของสส.ว่าจะมีการย้ายพรรค และข้อความต่อไปก็ทำให้ทุกคนเริ่มรู้สึกอึดอัดใจ ไม่อยากให้มีประเด็นและไม่อยากให้ทุกคนรู้สึกกังวลว่าในกลุ่มนี้จะมีการคุยกันอย่างไร” 

แต่หัวหน้าพรรคพท.ยืนยันว่า ไม่มีนโยบายขับ ร.ต.อ.เฉลิม ออกจากพรรค และยังพร้อมที่จะพูดคุยด้วย แต่ขอเป็นที่พรรคพท.

ยืนยันไม่เคยพูดว่าจะให้ ร.ต.อ.เฉลิม หรือนายวัน ออกจากพรรค พท. จากนี้ไปต้องรอดูบทบาท “ร.ต.อ.เฉลิม” จะออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองรูปแบบไหน เพราะแม้จะความอาวุโส แต่เปรียบเป็นตะเกียงไม่ไร้น้ำมัน
จะสร้างผลกระทบให้เกิดขึ้นกับพรรคพท.หรือไม่ ในท่ามกลางเผชิญวิกฤติรุมเร้า

รวมถึงวันที่ 26 ก.ค. เป็นวันคล้ายวันเกิด “นายทักษิณ ชันวัตร” อายุครบรอบ 75 ปี นอกจากมีการเปิดบ้านจันทร์ส่องหล้า ให้คนที่สนิทใกล้ชิดเข้าไปอวยพรวันเกิด

โดยในช่วงเช้าจะมีพิธีทำบุญตักบาตรในครอบครัว​ ต้องรอดู ในห้วงเวลาสำคัญ อดีตนายกฯ จะออกมาเปิดใจหรือส่งสัญญาณทางการเมืองหรือไม่ โดยเฉพาะในช่วงที่ “ร.ต.อ.เฉลิม” ท้าดีเบตและออกมาทวงบุญคุณ เรื่องการให้คำปรึกษาในเรื่องคดีความ

ส่วนความเคลื่อนไหวที่น่าใจอีกประเด็นหนึ่ง ถือเป็นการลองของหรือวัดใจการทำงานของสมาชิกวุฒิสภา(สว.) ชุดใหม่ เมื่อพรรคก้าวไกล(ก.ก.) นำโดย “นายพริษฐ์ วัชรสินธุ” สส.บัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคก.ก. ได้ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ( รธน.) เกี่ยวกับการลบล้างผลพวงรัฐประหาร จำนวน 3 ฉบับต่อประธานรัฐสภา เพื่อให้บรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมรัฐสภา โดยระบุว่า นอกเหนือจากการผลักดันให้การจัดทำรธน.ฉบับใหม่เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด รัฐสภาควรดำเนินการแก้ไขรธน.รายมาตราในประเด็นที่มีความสำคัญและเร่งด่วนคู่ขนานกันไป ขณะเดียวกัน ในสัปดาห์นี้ สว.ชุดใหม่ 200 คน ได้เริ่มปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการแล้ว พรรคก.ก.จึงใช้จังหวะนี้ในการยื่นร่างแก้ไขรธน.รายมาตราชุดแรก เพื่อให้เป็นภารกิจแรกของวุฒิสภาชุดใหม่พิจารณาร่างแก้ไขรธน.ดังกล่าว ในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา

นายพริษฐ์ กล่าวอีกว่า ร่างแก้ไขรธน.รายมาตรา ที่พรรคก.ก.ยื่นเข้ามาเป็นชุดแรกนั้น มุ่งเน้นไปที่การลบล้างผลพวงของรัฐประหาร ซึ่งน่าจะเป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายการเมืองในสภาฯ เห็นพ้องต้องกันมากที่สุด โดยแบ่งร่างดังกล่าว ออกเป็น 3 ฉบับ ดังนี้ ร่างที่ 1 ยกเลิกมาตรา 279 ในบทเฉพาะกาลของรธน. ซึ่งเป็นมาตราที่ทำให้ประกาศและคำสั่งทุกฉบับของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และหัวหน้า คสช.ชอบด้วยกฎหมายและรธน. ร่างที่ 2 คือการเพิ่มหมวด 16/1 ในรธนเรื่องการป้องกันและต่อต้านรัฐประหาร วต่อว่า ร่างที่ 3 คือการยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนการปฏิรูปประเทศ ผ่านการยกเลิกมาตรา 65 และหมวด 16 ในรธน.และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

โฆษกพรรคก.ก. กล่าวว่า หวังว่าสมาชิกรัฐสภาทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และ สว.ชุดใหม่จะให้ความเห็นชอบกับร่างแก้ไขรธน.ดังกล่าว เพื่อลบล้างผลพวงรัฐประหาร และเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการแก้ไขรธน.รายมาตราในประเด็นที่สำคัญและเร่งด่วน คู่ขนานกับการผลักดันรธน.ฉบับใหม่ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว

ต้องถือเป็นงานใหญ่ครั้งแรกของวุฒิสภาชุดใหม่ ที่เพิ่งผ่านการเลือกประธานและรองประธานวุฒิสภา เหมือนกับพรรคก.ก. ต้องการวัดใจ “สว.สายน้ำเงิน” ที่คุมเสียงข้างมากในวุฒิสภา จะมีแนวทางอย่างไร ในการแก้ไขรธน.
โดยอ้างว่าเป็นการล้มล้างผลพวงของรัฐประหาร เพราะหากไม่ให้การสนับสนุนก็อาจมีข้อครหาว่า ไม่ได้ส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยให้มีความแข็งแกร่ง และส่งผลกระทบต่อสว.สายสีน้ำเงิน

เรื่องสุดท้ายคือ การผลักดัน พ.ร.บ.ควบคุมการใช้กัญชง กัญชา จะมีขั้นตอนอย่างไร จะเสนอในนามพรรคการเมืองหรือคณะรัฐมนตรี (ครม. ) หลัง “นายกฯเศรษฐา ทวีสิน” มีบัญชาให้ใช้กฎหมายมาควบคุม โดย “นายอนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯและรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย( ภท.) กล่าวถึงความคืบหน้าการผลักดัน พ.ร.บ.กัญชงกัญชา หลังนายกฯ มีบัญชาให้ออกเป็นกฎหมาย จะเสนอ ร่างพ.ร.บ.จากทาง สส. หรือ ครม. ว่า ขอพิจารณาในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขก่อน เพราะเหมือนจะมีร่างกฎหมายกัญชงกัญชาในสมัย “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” อดีต รมว.สาธารณสุข ที่เตรียมยื่น

ส่วนร่างของพรรคภท.ได้ยื่นเข้าสภาเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ ก.ย. 2566 และจากที่ได้ฟังนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ แนะนำว่าอยากให้เป็นเรื่องของพรรคร่วมรัฐบาล หรือพรรคใดก็ได้ยื่นเข้าไป จากนั้นนำไปประกบรวมกันเพื่อพิจารณา โดยเราเอาบัญชานายกฯ

ทั้งนี้ นายกฯ ได้มีข้อสั่งการในการออก พ.ร.บ. จึงต้องหาแนวทางในการออกกฎหมาย ซึ่งจะลบล้างเรื่องการนำกัญชงกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด เพราะการออก พ.ร.บ. คือการไม่ใช้ช่องทางของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (บอร์ด ป.ป.ส.) แล้ว

“ผมมั่นใจในนายกฯของผม นายกฯลงมาสั่งการขนาดนี้แล้ว และเป็นพรรคร่วมรัฐบาลที่มีเสียงสนับสนุนกว่า 314 เสียง ซึ่งไม่เหมือนรัฐบาลที่แล้ว ที่มีเสียงสนับสนุน 253 เสียง”

อย่างไรก็ตามความเห็น “ผศ.นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์” นายกสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทย และหนึ่งในเครือข่ายนักวิชาการ และภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติด ก็น่าสนใจ หลังระบุว่า สิ่งที่จะต้องดำเนินการคือ บอร์ด ป.ป.ส. จะต้องนำ(ร่าง)ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ที่ให้กัญชากลับไปเป็นยาเสพติดมาพิจารณาและเห็นชอบ เพราะเป็นช่องทางที่จะสามารถควบคุมกัญชาได้เร็วที่สุด เพราะตอนนี้ไม่มีกฎหมายอะไรมาคุมเลย

จากนั้นจึงค่อยพิจารณาออกพ.ร.บ.กัญชา มาควบคุม ซึ่งสามารถดำเนินการด้วยศักดิ์ของกฎหมายพ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 และพรบ.ควบคุมกัญชาเท่ากัน สำหรับ(ร่าง) พ.ร.บ.กัญชา ทั้ง 4 ฉบับที่เสนอกันไปนั้นเห็นว่า ยังต่ำกว่าประเทศที่อนุญาตให้ใช้กัญชาในเชิงสันทนาการได้ การจะอ้างว่า 4 ฉบับนี้เพื่อยกเลิกสันทนาการเป็นไปไม่ได้

จากนี้ต้องรอดูท่าทีกระทรวงสาธารณสุข และกลุ่มที่ภาคประชาชนที่ต่อต้านภัยยาเสพติด เนื้อหาของร่างพ.ร.บ.ที่ใช้ควบคุมกัญชา จะทำให้แต่ละฝ่ายพอใจได้มากน้อยแค่ไหน เพราะถือเป็นนโยบายเรือธงของพรรคภท.ด้วยเช่นเดียวกัน

ทีมข่าวการเมือง