เมื่อวันที่ 25 ก.ค. นายธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการผู้เชี่ยวชาญได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวให้ความเห็นเกี่ยวกับเงินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ปีงบประมาณ 2567 ถ้าใช้ไม่ทัน ขอกันเงินไว้เบิกเหลื่อมปี ได้หรือไม่ โดยระบุว่า
ตามปกติแล้วการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายของปีงบประมาณใดจะต้องใช้จ่ายให้เสร็จสิ้นภายในปีงบประมาณนั้นตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 มาตรา 43 หากหน่วยงานรัฐใด ไม่สามารถใช้จ่ายเงินงบประมาณให้เสร็จสิ้นภายในสิ้นปีงบประมาณ ก็ต้องขอกันเงินไว้เบิกเหลื่อมปีตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณฯ มาตรา 43 และระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการเบิกเงินจากคลัง การรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงิน และการนำเงินส่งคลัง พ.ศ. 2562 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 105 และ 106 โดยหลักเกณฑ์สำคัญในการขอกันเงินไว้เบิกเหลื่อมปีนั้น จะต้องมีการก่อหนี้ผูกพันไว้ก่อนสิ้นปีงบประมาณ
สำหรับงบประมาณของโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งไม่เคยมีการดำเนินโครงการในลักษณะนี้มาก่อน ทำให้มีข้อถกเถียงและข้อห่วงกังวลว่า งบประมาณปี 2567 สำหรับการดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่จะได้รับจากการพิจารณาให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 หากไม่สามารถใช้จ่ายเงินให้เสร็จสิ้นภายในสิ้นปีงบประมาณ 2567 หรือภายในวันที่ 30 กันยายน 2567 จะสามารถขอกันเงินไว้เบิกเหลื่อมปี หรือเรียกให้เข้าใจได้ง่ายว่าใช้เงินข้ามปี ได้หรือไม่
โดยมีประเด็นสำคัญว่า การแจกเงินในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเป็นการก่อหนี้ผูกพันซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญในการขอกันเงินไว้เบิกเหลื่อมปีตามกฎหมายและระเบียบดังกล่าวข้างต้นหรือไม่
ในเรื่องนี้ หากพิจารณาจากการที่รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังประกาศเปิดให้ประชาชนที่สนใจและมีคุณสมบัติครบถ้วนตามเงื่อนไขที่กำหนด ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม ถึง 15 กันยายน 2567 ประกาศของรัฐบาลโดยกระทรวงการคลังดังกล่าวถือเป็นคำเชื้อเชิญให้ประชาชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1825/2522 และ 2802/2523
เมื่อประชาชนที่สนใจได้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการก็ถือว่าเป็นการทำคำเสนอแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และเมื่อกระทรวงการคลังได้ทำการตรวจสอบสิทธิของประชาชนที่ลงทะเบียนในเรื่องคุณสมบัติตามเงื่อนไขของโครงการ เช่น อายุ รายได้ และเงินฝาก เป็นต้น แล้วเห็นว่ามีคุณสมบัติครบถ้วนตามเงื่อนไขที่ประกาศกำหนด แล้วแจ้งตอบกลับการได้รับอนุมัติสิทธิไปยังประชาชนที่ลงทะเบียนว่าเป็นผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการ ก็ถือว่ากระทรวงการคลังได้ทำคำสนองไปยังประชาชนผู้ทำคำเสนอตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว
เมื่อคำเสนอและคำสนองอันเกิดจากการแสดงเจตนาของประชาชนที่ลงทะเบียนและกระทรวงการคลังที่แจ้งตอบการได้รับอนุมัติสิทธิถูกต้องตรงกัน จึงทำให้เกิดนิติกรรม 2 ฝ่าย ซึ่งก่อให้เกิดผลต่อทุกฝ่าย และเป็นสัญญาเกิดขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2419/2534 และ 707/2535 และมีผลผูกพันให้รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามสัญญาที่เกิดขึ้นในการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่ได้ประกาศไว้แก่ประชาชนที่ลงทะเบียนและมีคุณสมบัติครบถ้วนตามเงื่อนไขที่กำหนด
และเมื่อมีผลผูกพันตามสัญญาดังกล่าวแล้ว จึงทำให้เกิดเป็นหนี้ผูกพันขึ้นแก่กระทรวงการคลังให้มีหน้าที่ต้องใช้จ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตไปสู่ประชาชนผู้มีสิทธิ ซึ่งกระทรวงการคลังย่อมสามารถขอกันเงินงบประมาณโครงการดิจิทัลวอลเล็ตสำหรับปีงบประมาณ 2567 ไว้เบิกเหลื่อมปีได้ตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณฯ มาตรา 43 และระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการเบิกเงินจากคลังฯ ข้อ 105 และ 106 ดังกล่าว หากไม่สามารถใช้จ่ายเงินให้เสร็จสิ้นภายในสิ้นปีงบประมาณ 2567