เมื่อวันที่ 23 ก.ค. ที่ ห้องประชุมชิดชัย วรรณสถิตย์ สำนักงาน ป.ป.ส. (ดินแดง) กรุงเทพฯ พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการติดตามเร่งรัดการบำบัดรักษา ฟื้นฟูสภาพทางสังคม ป้องกัน และปราบปรามยาเสพติด (ศปก.ครส.) ครั้งที่ 7/2567 โดยมี นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ ที่ปรึกษา รมว.สธ. พลเอกสุนัย ประภูชะเนย์ ที่ปรึกษา รมว.ยธ. และนายนิยม เติมศรีสุข ผู้ช่วย รมว.ยธ. เข้าร่วมประชุมในฐานะที่ปรึกษา และคณะกรรมการฯ อาทิ พล.ต.ท.สําราญ นวลมา ผู้ช่วย ผบ.ตร. พล.ต.ท.คีรีศักดิ์ ตันตินวะชัย ผบช.ปส. นายแพทย์ภาคี ทรัพย์พิพัฒน์ ผอ.สำนักงานเขตสุขภาพที่ 7 ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการฯ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัด เข้าร่วมการประชุมพร้อมหน่วยงานภาคี ผ่านระบบการประชุมออนไลน์เพื่อเร่งรัดแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ 25 จังหวัดให้บรรลุเป้าหมาย
สำหรับบรรยากาศช่วงเริ่มต้นการประชุม พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ เลขาธิการ ป.ป.ส. ได้แจ้งที่ประชุมถึงผลการดำเนินงานที่ผ่านมาว่า เมื่อวันที่ 18 ก.ค. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มอบอุปกรณ์ในการป้องกันและตอบโต้กลุ่มผู้ค้ายาเสพติด เช่น กล้องซ่อนพราง ปืน Anti-Drone ให้แก่ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. และพลเอกเจริญชัย หินเธาว์ ผบ.ทบ. ณ บริเวณทางเชื่อมตึกไทยคู่ฟ้าและตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยธ. ร่วมรับฟังบรรยายสรุปรายงานการดำเนินงานการบูรณาการการทำงานร่วมกับทหาร ตำรวจ สาธารณสุขจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดพื้นที่ อ.ธวัชบุรี จ.ร้อยเอ็ด เป็นพื้นที่ต้นแบบในการจัดการปัญหายาเสพติด มีกระบวนการคัดกรองส่งต่อตามกระบวนการให้แน่ใจว่าฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดได้สำเร็จ และมีการฝึกฝนอาชีพ การศึกษา เพื่อให้กลับมาใช้ชีวิตในสังคมตามเดิม ไม่กลับไปสู่วงจรของยาเสพติด นอกจากนี้ พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ ยังได้เข้าร่วมพิธีพระราชทานเพลิงศพและมอบเงินช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ผู้เสียชีวิตจากการปฏิบัติงานปราบปรามยาเสพติด ในเบื้องต้น จำนวน 500,000 บาท แก่ครอบครัวของ ส.ต.ท.ศรัณยู สิงห์คำ ผบ.หมู่ (ป.) สภ.นาหวาย เนื่องจากนายกรัฐมนตรีได้มีความเป็นห่วงและกังวลถึงการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ อยากให้ทุกฝ่ายปฏิบัติงานอย่างเข้มแข็งและขอให้กำลังใจผู้ปฏิบัติงานทุกท่าน
พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ ระบุว่า สำหรับผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฯ ในพื้นที่ 25 จังหวัดนำร่อง พบว่า บรรลุเป้าหมายครอบคลุมทุกด้าน ดังนี้ ด้านการปราบปราม มีผลการดำเนินงานบรรลุผลในภาพรวม ไม่ว่าจะเป็นผลการดำเนินคดีผู้กระทำความผิดฐานความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด โดยมีจังหวัดที่บรรลุเป้าหมายถึง 13 จังหวัด และผ่านเกณฑ์ 12 จังหวัด การดำเนินคดีข้อหาสมคบ สนับสนุน ช่วยเหลือ ตั้งเป้าหมายไว้ 327 คดี สามารถดำเนินคดีได้ทั้งหมด 376 คดี เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ถึง 49 คดี การจับกุมเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด 8 คดี ด้านการบำบัดรักษา ในภาพรวมสามารถนำผู้เข้าสู่กระบวนการบำบัดได้ทั้งหมดตามเป้าหมาย โดยได้มีการตั้งชุมชนดีเด่น ตัวอย่างของชุมชนล้อมรักษ์ 3 ชุมชน ที่มีการดำเนินการในรูปแบบ CBTx ได้แก่ 1.ชุมชนบ้านโนนทอง ต.โนนทอง อ.นายูง จ.อุดรธานี 2.ชุมชนบ้านโนนเชียงค้ำ ต.ทับกุง อ.หนองแสง จ.อุดรธานี 3.ชุมชนบ้านสมวิไล ต.บ้านตาด อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี เป็นชุมชนดีเด่นตัวอย่างของชุมชนล้อมรักษ์ ผลการนำผู้เสพที่มีอาการทางจิตเข้าสู่กระบวนการบำบัด มีผลการดำเนินงานร้อยละ 97.44 และสามารถนำผู้เสพในระบบคุมประพฤติเข้าสู่กระบวนการบำบัดมากกว่าร้อยละ 99.47
พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ ระบุอีกว่า โครงการชุมชนบำบัดอย่างยั่งยืนในพื้นที่แพร่ระบาดยาเสพติดตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล มีผู้เข้าบำบัดภายในระบบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) จำนวน 11,335 คน หรือคิดเป็น 17.82 คนต่อสถานี และในด้านการป้องกันได้ดำเนินการจัดระเบียบสังคมในสถานบันเทิง สถานบริการมากกว่าร้อยละ 99.70 สถานประกอบการคล้ายสถานบันเทิงมากกว่าร้อยละ 99.79 รวมทั้งรอบสถานศึกษามากกว่าร้อยละ 99.65 โดยมีการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนมากกว่าร้อยละ 95.15
พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ ระบุต่อว่า จากนี้จะมีการกำหนดวันเพื่อปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้นพร้อมกันทั่วประเทศ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนเห็นผลการปฏิบัติงานเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ยังเพิ่มบทบาทสำคัญกับศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม ติดตาม ดูแล ให้คำปรึกษา แนะนํา ให้ความช่วยเหลือ และสงเคราะห์แก่ผู้เข้ารับการบำบัดรักษา เพื่อให้บุคคลดังกล่าวสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้โดยไม่กลับมากระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอีก และเพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน สำนักงาน ป.ป.ส. เตรียมแต่งตั้งเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. เพื่อปฏิบัติงานที่มาจากคณะอนุกรรมการพิจารณาอนุมัติเพิ่มขึ้น และขอขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 25 จังหวัดที่เข้าร่วมประะชุมและปฏิบัติงานเพื่อลดความรุนแรง สร้างความมั่นใจให้กับประชาชน ทำให้ประชาชนจำนวนมากพอใจกับสถานการณ์ที่ดีขึ้น ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ส. ไม่นิ่งนอนใจ เมื่อครบกำหนดเวลา 3 เดือน (1 มิ.ย.67 – 31 ส.ค.67) จะจัดการประชุมถอดบทเรียนจากการดำเนินงานที่ผ่านมาเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2568