“ข้อตกลงต่างตอบแทนทางทหาร” หรืออาร์เอเอ ได้รับการสรุประหว่างการเจรจาด้านกลาโหมระดับสูงในกรุงมะนิลา และมีขึ้นในขณะที่จีนเพิ่มแรงกดดันทางทหารและการทูต ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งญี่ปุ่นกับฟิลิปปินส์ เจรจากันเกี่ยวกับข้อตกลงดังกล่าวมา ตั้งแต่เดือน พ.ย. ปีที่แล้ว และมันจะมีผลบังคับใช้ หลังจากการให้สัตยาบันโดยฝ่ายนิติบัญญัติของทั้งสองประเทศ

อนึ่ง ญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์ ต่างมีข้อพิพาทเรื่องดินแดนทางทะเลกับจีนมาอย่างยาวนาน และข้อตกลงฉบับนี้ จะช่วยเพิ่มความร่วมมือระหว่างกองทัพของทั้งสองประเทศ ในการฝึกฝนหรือเพื่อปฏิบัติการทางทหาร ไม่ว่าจะเป็น การซ้อมรบด้วยกระสุนจริง และการลาดตระเวนร่วมกัน รวมถึงการตอบสนองต่อภัยพิบัติ

แม้ญี่ปุ่น ซึ่งมีทหารสหรัฐประจำการในประเทศ 54,000 นาย เคยลงนามในอาร์เอเอ ร่วมกับสหราชอาณาจักรและออสเตรเลียมาแล้ว แต่การลงนามร่วมกับฟิลิปปินส์ ถือเป็นครั้งแรกในเอเชีย ขณะที่ฟิลิปปินส์ มีข้อตกลงที่เทียบเท่ากัน กับสหรัฐและออสเตรเลีย แถมยังวางแผนที่จะลงนามร่วมกับฝรั่งเศสในอนาคตด้วย

ทั้งนี้ ฟิลิปปินส์และญี่ปุ่น ต่างเป็นพันธมิตรทางทหารที่สำคัญของสหรัฐมานานแล้ว ซึ่งทุกฝ่ายต่างกระชับความสัมพันธ์ เพื่อขัดขวางอิทธิพลของจีน ในภูมิภาคแห่งนี้ จนทำให้บรรดาผู้นำในรัฐบาลปักกิ่ง รู้สึกโกรธเคือง

“ข้อตกลงนี้คืออีกชั้นหนึ่งของความร่วมมือด้านความมั่นคงในภูทิภาคอินโดแปซิฟิก ซึ่งอาร์เอเอฉบับประวัติศาสตร์นี้ ไม่เพียงส่งเสริมความร่วมมือและขีดความสามารถของทั้งสองประเทศเท่านั้น แต่ยังเสริมสร้างการป้องปรามและความมุ่งมั่นร่วมกันของพวกเรา ที่มีต่ออินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง” นายราห์ม เอ็มมานูเอล เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำกรุงโตเกียว ระบุบนสื่อสังคมออนไลน์ เอ็กซ์

สิ่งที่น่าสังเกตประการหนึ่งคือ ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่รักสงบมานาน เริ่มกล้าแสดงออกมากขึ้น ในการตอบสนองต่ออิทธิพลทางทหารที่เพิ่มขึ้นของจีน และกิจกรรมขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ โดยได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐ ซึ่งรัฐบาลโตเกียว ให้คำมั่นว่าจะเพิ่มการใช้จ่ายด้านกลาโหม “สองเท่า” เป็น 2% ของผลผลิตทางเศรษฐกิจ ภายในปี 2570 และจะมีขีดความสามารถในการตอบโต้ ด้วยขีปนาวุธโทมาฮอว์กของสหรัฐ

“เมื่อพิจารณาถึงความไม่แน่นอนเกี่ยวกับนโยบายของสหรัฐ ที่มีต่อภูมิภาคแห่งนี้ ญี่ปุ่นกำลังยกระดับ เพื่อเป็นพันธมิตรด้านความมั่นคงที่เข้มแข็ง สำหรับประเทศเพื่อนบ้าน” นายเจย์ บาตองบากัล ผู้อำนวยการสถาบันกิจการทางทะเลและกฎหมายทางทะเล ของมหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ กล่าว

อันที่จริง ญี่ปุ่นเป็นซัพพลายเออร์หลักของอุปกรณ์และเทคโนโลยีด้านความมั่นคง สำหรับฟิลิปปินส์อยู่แล้ว ซึ่งเป็นไปตามกระบวนการปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัย และเสริมสร้างความแข็งแกร่งของหน่วยยามชายฝั่ง

ขณะที่ นายคาซึยะ เอนโด เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำกรุงมะนิลา กล่าวว่า “การพัฒนาอย่างมีนัยสำคัญ” ในการจัดหาอุปกรณ์ด้านความมั่นคงของญี่ปุ่น ให้กับฟิลิปปินส์ กำลังดำเนินไปอย่างรวดเร็ว.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES