เมื่อวันที่ 22 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาถึงความเคลื่อนไหวของกลุ่ม สว.สายสีน้ำเงินที่เป็นกลุ่ม สว.เสียงส่วนใหญ่ในวุฒิสภา มีจำนวน 150 คน จากสว.ทั้งหมด 200 คน ในการเตรียมเลือกตำแหน่งประธานวุฒิสภา และรองประธานวุฒิสภา อีก 2 คน ในการประชุมวุฒิสภา วันที่ 23 ก.ค.นั้น เป็นที่แน่นอนแล้วว่า สว.สายสีน้ำเงินจะเสนอชื่อนายมงคล สุระสัจจะ สว. ชิงตำแหน่งประธานวุฒิสภา พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ สว. ชิงตำแหน่งรองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 และนายบุญส่ง น้อยโสภณ ชิงตำแหน่งรองประธานวุฒิสภา คนที่ 2 หลังจากการประชุมลับกันที่โรงแรมพูลแมน ซอยรางน้ำ เมื่อวันที่ 21 ก.ค. โดยเรียกเฉพาะ สว.เข้าร่วมประชุมเท่านั้น ไม่ให้ผู้ติดตามหรือผู้ไม่เกี่ยวข้องร่วมประชุมด้วย
โดยทางแกนนำตัดสินใจนาทีสุดท้ายแบ่งโควตารองประธานวุฒิสภาคนที่ 2 ให้นายบุญส่ง น้อยโสภณ สว.กลุ่มอิสระ จากเดิมที่จะยึดตำแหน่งประธานวุฒิสภา และรองประธานวุฒิสภา อีก 2 เก้าอี้ ไว้กับ สว.สายสีน้ำเงินทั้งหมด ในฐานะเสียงข้างมาก โดยเหตุผลสำคัญในการแบ่งโควตารองประธานวุฒิสภา คนที่ 2 ให้ สว.กลุ่มอิสระ เพื่อลดแรงกดดันไม่ให้ สว.สายสีน้ำเงินถูกมองกินรวบวุฒิสภา อีกทั้งนายบุญส่ง เป็นอดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และอดีตผู้พิพากษา มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย และเคยทำงานเป็นที่ปรึกษานายศุภชัย สมเจริญ อดีตรองประธานวุฒิสภา คนที่ 2 ชุดที่แล้ว มีความรู้เรื่องระบบวุฒิสภาอย่างดี ควรให้มาช่วยงานด้านกฎหมายและระบบวุฒิสภาแก่นายมงคลที่จะถูกเสนอชื่อชิงประธานวุฒิสภา และพล.อ.เกรียงไกร ที่จะถูกเสนอชื่อชิงรองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 ที่ยังไม่ชำนาญ แม่นยำด้านกฎหมาย
ขณะเดียวกันในตำแหน่งประธานกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญประจำวุฒิสภา ที่มี 26 คณะในปัจจุบัน จะต้องลดจำนวนคณะกรรมาธิการลง เพราะ สว.ชุดนี้มี 200 คน จากเดิมมี 250 คน จึงจำเป็นต้องลดลงให้มีความเหมาะสม เบื้องต้น สว.สายสีน้ำเงินได้จองโควตาประธานคณะกรรมาธิการสามัญให้ตรงกับพรรคภูมิใจไทยกำกับดูแลกระทรวงอยู่ อาทิ ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา ประธานคณะ กรรมาธิการแรงงาน ประธานคณะกรรมาธิการปกครองท้องถิ่น ประธานคณะกรรมาธิการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวมถึงจับจองโควตาประธานกรรมาธิการเกรดเอที่มีความสำคัญไว้ดูแลเอง อาทิ ประธานคณะกรรมาธิการตรวจสอบการทุจริตและประพฤติมิชอบ ประธานคณะกรรมาธิการทหารและความมั่นคงของรัฐ ประธานคณะกรรมาธิการคมนาคม ประธานคณะกรรมาธิการกิจการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ประธานคณะกรรมาธิการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม ประธานกรรมาธิการเกษตร ประธานกรรมาธิการพลังงาน โดยในส่วนประธานกรรมาธิการชุดต่างๆ นั้น สว.สายสีน้ำเงินจะมีการแบ่งโควตาให้สว.สายอื่นๆ ที่จะมีการเจรจากันต่อไป.