เมื่อวันที่ 21 ก.ค. ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ไปยังบ่อเลี้ยงปลากะพงของนายบุญศรี ขันคำ อายุ 71 ปี เลขที่ 434 หมู่ที่ 5 ต.บางปูใหม่ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ หลังจากได้รับแจ้งว่า พบปลาหมอคางดำอยู่แน่นเต็มบ่อ มีลักษณะตัวใหญ่มาก บางตัวหนักถึงครึ่งกิโลกรัมและที่พิเศษสุดต่างจากแหล่งอื่น คือ ปลาหมอคางดำที่บ่อนี้อยู่ได้ในน้ำร้อน หมายถึงน้ำที่มีอุณหภูมิสูงกว่าพื้นดินหรืออากาศทั่วไป ขณะที่สัตว์น้ำชนิดอื่นตายหมดยกบ่อ เช่น ปูทะเล ปลากะพง นอกจากปลาหมอคางดำแล้ว ยังพบปลาหมอมายันอีกด้วย ในระหว่างที่ลงมือทอดแหจับอยู่มีลูกปลาหมอคางดำตัวเล็ก ๆ กระโดดไป-มา อยู่ตลอด ส่วนปลาหมอคางดำนั้นมีขนาดตัวใหญ่ สีสันสวยงานเป็นสีรุ้ง คาดว่าน่าจะเป็นตัวผู้ที่เพิ่มสีตัวเอง เป็นการดึงดูตัวเมียให้สนใจเข้ามาผสมพันธุ์
น.ส.ธนภร เจียรสุข นายกสมาคมการประมงคลองด่าน ได้นำลูกปลาหมอคางดำ ที่จับใส่ขวดน้ำพลาสติกใสมาให้ดู กล่าวว่า บ่อนี้มีพื้นที่ประมาณ 2 ไร่ เจ้าของบ่อจับปลาหมอคางดำขึ้นมาได้ประมาณ 100 กว่ากิโลกรัม ซึ่งยังจับขึ้นมาไม่หมดทำให้คิดต่อไปได้ว่าถ้าพวกมันอยู่ในทะเลจะขยายพันธุ์มีปริมาณมากมายขนาดไหนและที่บ่อแห่งนี้ ปลาหมอคางดำที่พบมีขนาดใหญ่มากตั้งแต่เคยเห็นมาในหลายสถานที่ นอกจากนี้ยังพบปลาหมอมายัน ลักษณะมีจุดดำที่ปลายหางอยู่ในบ่ออีกด้วย เป็นสัตว์สายพันธุ์ต่างถิ่น หรือ เอเลี่ยนสปีชีส์ (Alien Species) ซึ่งก็เป็นปัญหากับเกษตรกรเช่นกัน
นายนที บัวทิม อายุ 27 ปี เจ้าของบ่อเลี้ยงปลากะพง กล่าวว่า ที่บ่อแห่งนี้น้ำในบ่อมีอุณหภูมิสูง ปูทะเลน็อกตายทั้งหมด แต่ปลาหมอคางดำอยู่ได้ ส่วนปลากะพง ขนาด 4-8 นิ้ว จำนวน 300 ตัวที่ปล่อยเลี้ยงไว้ในบ่อ จู่ ๆ ก็น็อกน้ำตายหมด ตนจึงถ่ายน้ำออกดูพบมีปลาหมอคางดำอยู่แน่น จับขึ้นมาได้ประมาณร้อยกว่ากิโลกรัม บางส่วนแจกจ่ายให้เพื่อนบ้านนำไปกิน บางส่วนทำลายทิ้ง แต่ในบ่อก็ยังมีเหลืออยู่อีกเยอะคาดว่าหากจับขึ้นมาคงได้อีกหลายร้อยกิโลกรัม ส่วนสาเหตุที่ปลากะพงน็อกตาย คาดว่าเกิดจากตอนที่นำน้ำทะเลเข้ามาในบ่อตามรอบของการเลี้ยง เชื้อของปลาหมอคางดำคงไหลเข้ามาด้วย และมาเติบโตขยายพันธุ์จนแน่นเต็มบ่อแย่งอากาศจากปลากะพงทำให้น้ำเน่าเสีย ปลากะพงจึงน็อกตาย แต่ปลาหมอคางดำ กลับทนทานปรับตัวอยู่ได้และยังสามารถขยายพันธุ์เพิ่มปริมาณมากขึ้นอีกอย่างที่น่าตกใจ ปกติแล้วปลากะพงจะเป็นตัวที่ล่าและทำลายปลาหมอคางดำ แต่ที่บ่อนี้กลับเป็นปลาหมอคางดำที่จัดการกับปลากะพง นอกจากนี้ปลาหมอคางดำยังกินลูกปูทะเล หอยแครง กุ้งในบ่อเลี้ยงของตนจนหมดเกลี้ยง จึงอยากฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยเรื่องราคารับซื้อปลาหมอคางดำให้ดีและเร็วหน่อยจะได้นำเงินมาชดเชยกับความเสียหายที่เกิดขึ้น
นายบรรเจิด อุดมสมุทรหิรัญ ชาวประมงพื้นบ้าน กล่าวว่า บ่อแห่งนี้เป็นสิ่งยืนยันได้ว่าปลาหมอคางดำมีลักษณะทนทาน สามารถปรับตัวและขยายพันธุ์อยู่ได้ในสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ แม้กระทั่งน้ำที่มีอุณหภูมิสูงกว่าปกติ เกินกว่าที่สัตว์น้ำชนิดอื่นจะทนอยู่ได้ น้ำที่มีปริมาณออกซิเจนน้อย น้ำ-โคลน เน่าเสียส่งกลิ่นเหม็น ดังนั้นจึงขอฝากไปถึงหน่วยงานประมงจังหวัดสมุทรปราการช่วยลงพื้นที่มาดูและแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกร อย่างเร่งด่วน อย่าปล่อยให้สายไปมากกว่านี้.