เมื่อวันที่ 21 ก.ค. นายสุนทร รอดบุญชัย 1 ในเกษตรกรเลี้ยงกุ้งขาวใน ต.แพรกหนามแดง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม กล่าวถึงกระแสข่าวชาวประมงพบปลาหมอคางดำระบาดไปนอกเขตชายฝั่ง 3 ไมล์ทะเล ชาวประมงพื้นบ้านจับมาผ่าท้องดูก็เห็นลูกกุ้ง ลูกปลาเต็มท้องว่า ปกติปลาหมอคางดำจะชอบอยู่ตามป่าชายเลนริมชายฝั่ง เนื่องจากเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำกินลูกกุ้งลูกปลาที่พ่อแม่พันธุ์มาออกลูกไว้ นอกจากนี้สภาพน้ำบริเวณริมชายฝั่งยังไม่เค็มจนเกินไปจึงทำให้ปลาหมอคางดำที่ชื่นชอบน้ำจืดและน้ำกร่อยอาศัยอยู่ได้ แต่ในอนาคตก็เป็นเรื่องไม่แน่ เพราะขณะนี้ปลาหมอคางดำเริ่มออกทะเลไปไกลถึง 3 ไมล์แล้ว ภาครัฐจึงควรเร่งกำจัดก่อนที่จะแพร่ระบาดเป็นวงกว้างเพราะป่าชายเลนคือแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำที่สำคัญมาก
ส่วนการปล่อยพันธุ์ปลากะพงนักล่าขนาด 3-4 นิ้วเพื่อกำจัดปลาหมอคางดำนั้น ตนเห็นว่าได้ผลระดับหนึ่ง คือสามารถช่วยตัดวงจรลูกปลาหมอคางดำตัวเล็กๆ ได้ แต่ปลากะพงขนาดนี้ก็กินได้แค่ลูกปลาหมอคางดำขนาดเท่าเม็ดข้าวเปลือก ส่วนตัวใหญ่ เกษตรกรสามารถจะใช้ “กากชา” ฆ่าได้ แต่ลูกปลาตัวเล็กๆ ถ้าไม่มีปลานักล่ามากำจัดก็คงยากที่จะเบาบาง เมื่อก่อนชาวประมงซื้อปลากะพงมาปล่อย ตอนนี้ปลากะพงราคาตกซื้อมาปล่อยก็ไม่คุ้มเพราะใช้เวลาเลี้ยง 8 เดือนต้องมีต้นทุนค่าอาหาร ส่วนเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปูถ้าไม่มีปลาหมอคางดำทำลาย 3-4 เดือนก็จับขายได้แล้ว ที่สำคัญธรรมชาติปลากะพงจะเลือกกินลูกกุ้งลูกปูก่อนเพราะเป็นเหยื่อที่คุ้นชิน ถ้าเป็นลูกปลาหมอคางดำ จะกินทีหลังในลักษณะที่ว่ายผ่านปากแล้วจึงฮุบกิน หรือไม่มีอะไรให้กินแล้วจึงจะกิน นอกจากนี้ปลากะพง กินเหยื่อครั้งหนึ่งอิ่มไป 4-5 วัน กว่าจะย่อยและออกหากินอีก
ที่สำคัญไม่ใช่ว่า “ปล่อยปลานักล่า” แล้วจะกำจัดลูกปลาหมอคางดำได้อย่างมีประสิทธิภาพ มันก็แค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ที่ควรทำคือความต่อเนื่องต่างหาก ทั้งการกำจัดและการปล่อยปลานักล่า ต้องทำต่อเนื่อง ถ้าทำๆ หยุดๆ ก็กลับมาระบาดอีก จะรับซื้อก็ต้องทำระยะยาวอย่าไปจำกัดเวลา ถ้าไม่ทำอย่างนั้นชาวบ้านก็ไม่จับขึ้นมาขายเพราะมันไม่คุ้ม ส่วนพันธุ์ลูกปลากะพงที่จะนำมาปล่อยนั้น ตนเห็นว่าควรนำมาจากแหล่งเพาะพันธุ์ในพื้นที่ยิ่งใกล้ยิ่งดีเพื่อจะได้ใช้เวลาขนย้ายให้น้อยที่สุด เพราะถ้าใช้เวลาเดินทางนาน ปลาปรับสภาพไม่ทันและอ่อนแอ ยิ่งขนส่งไกลเท่าไหร่ก็มีโอกาสตายสูงเท่านั้น
นายสุนทร บอกด้วยว่า ผู้เพาะเลี้ยงเคยร้องขอให้กำจัดปลาหมอคางดำตั้งแต่ระบาดใหม่ๆ ปี 2554 ตนเปิดบ่อจับกุ้งได้ปลาหมอคางดำ 20-30 ตัว ตอนนั้นก็ไม่รู้ว่าเป็นปลาอะไรคิดว่าเป็น “ปลาหมอเทศสีเงิน” หรือ “ปลาหมอเผือก” จึงปล่อยลงบ่อไปเพราะเห็นว่าแปลกดี ปีต่อมาจับกุ้งอีกได้ปลาหมอเทศ 5 เข่ง ได้ปลาหมอคางดำ 1 เข่ง และปีต่อมาได้ปลาหมอเทศเข่งเดียว ส่วนปลาหมอคางดำได้เป็นตัน เพราะมันแพร่พันธุ์เร็วมาก.