ทั้ง 6 ศพ ถูกพบเสียชีวิตอยู่ภายในห้องเดียวกัน แบบไร้บาดแผล ไร้ร่องรอยการต่อสู้

หักหลังทางธุรกิจ…ล้างแค้น…ลัทธิประหลาด…???

หลายข้อสันนิษฐานถูกตั้งขึ้นทันที  เพื่อค่อยๆคลี่คลาย“ความเป็นไปได้” กระทั่งล่าสุดแนวทางสืบสวนสอบสวนให้น้ำหนักจากการสอบปากคำพยานไปที่ปมเรื่อง“เงิน”ที่นำไปสู่การ“ล้างหนี้”

“ทีมข่าวอาชญากรรม”ย้อนสรุปข้อมูลตั้งแต่การเดินทางเข้ามาของแต่ละคน และจุดที่ทำให้นำไปสู่การสืบทราบมูลเหตุ

เส้นทางเข้าประเทศของทั้ง 6 คน มีทั้งเคยเข้า-ออกไทยนับสิบครั้ง ไปจนถึงคนที่เพิ่งเข้าออกเพียง 1 ครั้ง มี 3 คน

การเข้ามาครั้งล่าสุดก่อนไม่มีใครได้เดินทางกลับ พบว่าต่างคนต่างเดินทางเข้ามา โดยมีการเดินทางเกิดขึ้นในวันที่ 4 , 5 , 7 และวันที่ 12 ก.ค. มี 3 คน ในจำนวน 6 คน เป็นชาย 3 คน หญิง 3 คน ทั้งหมดเป็นคนเวียดนาม มี 2 คน ถือพาสปอร์ตสัญชาติอเมริกัน

จากการสอบปากคำพยานที่เป็นคนใกล้ชิด มีข้อสันนิษฐานมูลเหตุจากเรื่องเงินค่อนข้างชัดเจน เนื่องจากในกลุ่มนี้มีสามีภรรยาคู่หนึ่งประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้างถนนอยู่ที่เวียดนาม และมีการตกลงร่วมลงทุนสร้างรพ.ในประเทศญี่ปุ่น โดยลงทุนคิดเป็นเงินประมาณ 10 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีผู้เสียชีวิตรายอื่นที่ร่วมลงทุนจากการถูกชักชวนโดยบุคคลที่อยู่ในกลุ่มผู้เสียชีวิตด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากที่ลงทุนไปไม่มีความคืบหน้า และมีการติดตามทวงเงินอยู่ตลอด จนต้องนัดหมายเคลียร์กันเดิมตั้งใจไปพูดคุยกันที่ญี่ปุ่นแต่ติดขัดปัญหาเรื่องขอวีซ่าจึงเปลี่ยนเป้าหมายการพูดคุยเป็นที่ไทยแทน 

จากหลักฐานในที่เกิดเหตุการดื่มชา กาแฟ ที่มีส่วนประกอบสารไซยาไนด์ เป็นต้นเหตุให้เสียชีวิต เบื้องต้นคดีไม่ปรากฎบุคคลแปลกปลอมร่วมเข้าพัก หรือบุคคลปริศนาอื่น จึงสันนิษฐานว่าเป็นเรื่องส่วนบุคคลของทั้ง 6 คน ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับแก๊งหรือองค์กรอาชญากรรมที่มาก่อเหตุในไทย และผู้ก่อเหตุเป็นหนึ่งในผู้เสียชีวิต 6 ศพนั้น แต่ยังต้องสอบสวนเชิงลึกเพิ่มเติมถึงที่มาสารไซยาไนด์ และยังมีผู้ร่วมก่อเหตุที่มากกว่าหนึ่งคนหรือไม่

ขยายมุมมองเพิ่มเติมเหตุอาชญากรรมในพื้นที่“ปิด” มักมีปมเหตุจากเรื่องใด และความยากง่ายในการคลี่คลายคดีเมื่อเปรียบเทียบกับอาชญากรรมในพื้นที่“เปิด”

รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์  พูตระกูล  รองอธิการบดีและประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม ม.รังสิต ให้ข้อมูลว่า โดยทั่วไปอาชญากรรมในห้องปิดตายพบได้หลากหลายประเด็นทั้ง เหตุทุบตีทำร้ายร่างกายจากคู่รัก สุดท้ายลงมือฆ่ากัน หรือการร่วมกันฆ่าเพื่อชิงทรัพย์ หรือคนร้ายลักลอบปีนเข้ามาฆาตกรรมเหมือนคดีที่เคยเกิดขึ้น 

สำหรับคดีที่มาก่อเหตุสังหารหมู่เช่นนี้ยอมรับมักไม่ค่อยพบเห็น เพราะว่าผู้ก่อเหตุจะต้องมีสาเหตุโกรธเคืองกับคนหลายคนพร้อมกัน ในเวลาเดียวกัน จึงวางแผนก่อเหตุสังหารหมู่ทั้งหมด

ทั้งนี้ ระบุการฆ่ากันต้องมีสาเหตุ  เช่น ความขัดแย้งทางธุรกิจ เหตุโกรธเคืองกันเรื่องส่วนตัว หักหลังธุรกิจ สิ่งที่ตรวจสอบได้คือ 1.ตรวจสอบจากสถานที่เกิดเหตุ อย่างรอยนิ้วมือแฝง รอยเท้า ดีเอ็นเอ ว่ามีเส้นผมบุคคลภายนอกตกอยู่หรือไม่  2.ตรวจสอบจากภาพวงจรปิด ก่อน-ขณะ-หลังเกิดเหตุ มีบุคคลใดเข้า-ออกในช่วงเวลานั้นหรือไม่ เพื่อหาตัวผู้ต้องสงสัยที่อาจเกี่ยวข้อง และ3.การตรวจสอบจากคนใกล้ชิด ญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิตทั้งหมด

ส่วนการไขคดีที่เกิดขึ้นในพื้นที่ปิด รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ ระบุ โอกาสรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อตรวจสอบจะครบถ้วน สมบูรณ์มากกว่าพื้นที่เปิด  ยกตัวอย่าง การพบศพในป่า พยานบุคคล หรือภาพจากกล้องวงจรปิดจะไม่มี  ส่วนหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์อาจถูกลบเลือนไปในหลายอย่าง

แต่สำหรับคดีในพื้นที่ปิด สามารถหาภาพจากกล้องวงจรปิดได้ ร่องรอยหลักฐานต่างๆมีโอกาสถูกทำลายน้อยลง ซึ่งปกติการสืบสวนของตำรวจจะใช้หลายวิธีควบคู่กัน เช่น ทีมอากาศ คือ ทีมที่ไปดูแลในส่วนกล้องวงจรปิด ดูการเข้าออกของผู้คน  ช่วงเวลาต่างๆ

ส่วนทีมภาคพื้นดินจะทำหน้าที่หาพยานบุคคลว่ามีใครเกี่ยวข้องบ้าง  มีใครเข้า-ออกในที่เกิดเหคุ และทีมนิติวิทยาศาสตร์จะหาหลักฐาน  เก็บรอยเท้าในที่เกิดเหตุ  ซึ่งแตกต่างจากการพบศพในที่เกิดเหตุที่เป็นพื้นที่เปิด เนื่องจากสภาพแวดล้อมในที่เกิดเหตุเปลี่ยนไปมากและยากในการเก็บหลักฐานมากกว่า.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]