เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 19 ก.ค. ที่ศาลาว่าการกทม. เสาชิงช้า น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค พร้อมตัวแทนชุมชน 28 แห่ง รวมกว่า 50 คน ยื่นหนังสือคัดค้านการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่4) ถึงผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อขอให้ยุติขบวนการตัดทำร่างดังกล่าว
โดยมีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. รับหนังสือดังกล่าวด้วยตัวเอง พร้อมนายไทวุฒิ ขันแก้ว ผอ.สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง (สวพ.) และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
น.ส.สารี กล่าวว่า สภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) และเครือข่ายที่ได้รับผลกระทบ ได้ติดตามการจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็น และปรึกษาหารือกับประชาชน เกี่ยวกับการวางและจัดทำเมืองรวมฯ รายเขต จำนวน 50 เขต ที่ดำเนินการโดย สวพ. โดยพิจารณาแล้วเห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวของ กทม.ขัดต่อ พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ.2562 มาตรา 9 และประกาศคณะกรรมการผังเมือง เรื่อง หลักเกณฑ์และความคิดเห็น การปรึกษาหารือ และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการวางและจัดทำผังเมืองรวม พ.ศ.2565
รวมทั้งขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 72 (2) ที่กำหนดแนวนโยบายของรัฐต้องจัดให้มีการวางผังเมืองทุกระดับและบังคับการให้เป็นไปตามผังเมืองอย่างมีประสิทธิภาพรวม ตลอดทั้งพัฒนาเมืองให้มีความเจริญโดยสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่
“ข้อเท็จจริงพบว่าการวางและจัดทำผังเมืองรวมฯ เป็นการออกแบบเมือง โดยเน้นการเพิ่มความหนาแน่นเข้าสู่จุดศูนย์กลางของเมือง โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น อาทิ ปัญหาการจราจร ปัญหาน้ำท่วม ปัญหาที่เกิดจากมลกาวะฝุ่น PM 2.5 การเกิดโรคอุบัติใหม่อย่างโรคโควิด-19 ขาดการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน ไม่เกิดความเป็นธรรมต่อกลุ่มคนผู้มีรายได้น้อย” น.ส.สารีกล่าว
น.ส.สารี กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้การรับฟังความคิดเห็นที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอนของประกาศคณะกรรมการผังเมืองฯที่กำหนดให้ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นฯ ในการวางและจัดทำผังเมืองรวมฯ แต่ปรากฏว่ามีการนำผังเมืองรวมฉบับเดิมที่จัดทำไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2562 มาใช้เป็นเอกสารประกอบการประชุมฟังความคิดเห็นฯ กับประชาชน ซึ่งมีปัญหา และที่มาไม่ถูกต้อง ขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชนส่วนใหญ่ จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย และมิได้คำนึงถึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนในแต่ละพื้นที่
รวมทั้งการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นฯไม่ได้มีการให้ข้อมูลที่เพียงพอต่อการที่ประชาชนจะเข้าใจถึงผลกระทบต่อประชาชน ชุมชน สิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพ และแนวทางการเยียวยาความเดือดร้อน หรือความเสียหายแก่ประชาชนหรือชุมชนจึงทำให้ประชาชน ไม่สามารถที่จะร่วมแสดงความคิดเห็น เพื่อแลกเปลี่ยนชักถามถึงแนวทางการเยียวยาความเดือดร้อน หรือความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับตนเองได้เลย
อีกทั้งการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นฯ เป็นเพียงการบรรยาย อย่างรวบรัด ด้วยข้อมูลชี้นำของผู้จัดเวที และให้เวลากับประชาชนเพื่อซักถามแลกเปลี่ยนที่น้อยมาก เป็นรูปแบบการประชุมที่ไม่เอื้อต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน
ซึ่งการวางและจัดทำผังเมืองรวมฯ ต้องประชาสัมพันธ์หลากหลายและทั่วถึง เพื่อให้ประชาชนในกรุงเทพฯ และพื้นที่ใกล้เคียง ที่จะได้รับผลกระทบทราบ และมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น สะท้อนถึงความต้องการ เพื่อให้เกิดผังเมืองที่สอดคล้องกับต้องการในแต่ละพื้นที่อย่างแท้จริง แต่ กทม.อาศัยช่องทางออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ จึงทำให้ประชาชนในกทม. อีกจำนวนมาก ไม่ทราบถึงการเปิดรับฟังความคิดเห็นฯ นับตั้งแต่ปี 2560- ปัจจุบัน มีประชาชน เข้าร่วมประมาณ 20,000 คนหรือคิดเป็นร้อยละ 0.39 เท่านั้น
นอกจากนี้ยังเกิดผลกระทบต่อประชาชนอย่างกว้างขวางจากการให้ข้อมูลที่ไม่ชัดเจน คลุมเครือ เกี่ยวกับการตัดขยายถนนหลายสาย อาทิ ถนน สาย ก. สาย ข. ที่จะมีการขยายถนนจาก 6 เมตร และ 8 เมตร เป็นขนาดความกว้าง 12 เมตร และ 16 เมตร ตามลำดับ และการตัดถนนนสาย ค. จ. ฉ. ช.ที่มีขนาดความกว้างของเขตทางตั้งแต่ 20-60 เมตร ซึ่งปรากฏอยู่ในผังคมนาคมและขนส่ง สร้างความวิตกกังวลกับประชาชนที่จะได้รับผลกระทบ รวมไปถึงการตัดคลอง ขยายคลองตามผังแสดงผังน้ำ ที่ประชาชนโดยรอบอีกเป็นจำนวนมากยังไม่ทราบข้อมูล ส่งผลกระทบถึงเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดินของประชาชน จากการเวนคืนที่ดิน
“จึงขอให้ กทม.ยุติการรับฟังความคิดเห็นฯ ประชาชนใน 50 เขต และยกเลิกประกาศ เรื่องเชิญชวนประชนแสดงความคิดเห็นในการวางและจัดทำผังเมืองรวมฯ และให้เริ่มกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนใหม่ตั้งแต่ต้นแต่ละพื้นที่ อย่างทั่วถึงหาก กทม.เพิกเฉย มิได้แก้ไขหรือยุติ การกระทำที่ขัดต่อกฎหมายดังกล่าวภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค.นี้ สภาองค์กรของผู้บริโภค และเครือข่ายประชาชนที่ได้รับผลกระทบ จะยื่นฟ้องต่อศาลปกครองต่อไป” น.ส.สารีกล่าว
ด้านนายชัชชาติ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ดีที่ประชาชนมาให้ความเห็น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการรับฟังความเห็น โดย กทม.มีการรับฟังความเห็นมานานแล้ว ต้องรอจนถึงเดือน ส.ค. ให้ประชาชนชี้แจงได้เต็มที่ เดี๋ยวจะหาว่าเราไม่รับฟัง หลายเรื่องเคยได้ยินมาแล้ว ทางกรรมการผู้เชี่ยวชาญต้องไปดู เพิ่งอยู่ในขั้นตอนแรก ๆ เพราะยังต้องทำทั้งหมด 20 ขั้นตอน ถ้าจะให้ไปเริ่มหนึ่งใหม่ต้องดูพื้นฐานข้อมูลก่อน
ด้านนายไทวุฒิกล่าวว่า หลังจากมีการขยายเวลาการรับฟังความเห็นร่างผังเมือง ขณะนี้รับฟังไปแล้ว 42 เขต เหลืออีก 8 เขตที่ต้องรับฟังให้เสร็จสิ้นภายในเดือนส.ค.นี้ เมื่อรับฟังเสร็จแล้วนำมารวบรวมความเห็น ออกมาเป็นร่างผังเมืองใหม่ ภายในเดือน พ.ย.นี้
จากนั้นจะนำเสนอต่อคณะกรรมการที่ปรึกษาผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ให้พิจารณา ทั้งนี้จากการรับฟังความเห็นประชาชน มีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลหลายส่วน เช่น ถนนสาย ก. ข. ที่ประชาชนไม่เห็นถึงความจำเป็น ก็จะมีการเอาออกจากผัง ถนนบางเส้นทางที่ประชาชนยังต้องการ ก็ยังคงไว้ในผังเหมือนเดิม โดยร่างผังเมืองใหม่ต้องมาจากความต้องการของประชาชนโดยแท้จริง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รายชื่อกลุ่มที่มายื่นหนังสือประกอบด้วย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, มูลนิธิดวงประทีป, มูลนิธิพร้อมใจพัฒนา, มูลนิธิ ศ.อัน นิมมานเหมินทร์, สภาองค์กรชุมชนคลองเตย, สมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม (SCONTE), เครือข่ายผู้บริโภค, เครือข่ายชุมชนปกป้องคุณภาพชีวิตคนเมือง, ประชาชนในเขตวัฒนา, ประชาชนชุมชน อารีย์ – ราชครู, ประชาชนผู้อยู่อาศัยในอาคารผาสุก, ชุมชนเขตพญาไท, ชุมชนอินทามาระ 38, ชุมชนบริเวณบึงรับน้ำ คู้บอน, ประชาชนผู้อยู่อาศัยในซอยศุภราช 1, ประชาชนในชุมชนซอยพหลโยธิน 37, ประชาชนในชุ่มชนซอยประดิพัทธิ์ 23, ชุมชนหมู่บ้านเดอะธารา รามอินทรา, ประชาชนในเขตภาษีเจริญ, ประชาชนในซอยสุขุมวิท 61, ประชาชนในชุมชนคลองเตย, ชุมชนพหลโยธินซอย 2, ประชาชนผู้อยู่อาศัยในซอยสวัสดี, หมู่บ้านศุภาลัยพระราม 2, ซอยสุขุมวิท 49, ประชาชนในเขตสุขสวัสดิ์, ชุมชนอนุรักษ์พญาไท.