จี ซิกส์ พี ดี เป็นเอนไซม์ในเม็ดเลือดแดง ทำหน้าที่ปกป้องเม็ดเลือดแดงไม่ให้ถูกทำลายเมื่อร่างกายได้รับสารบางอย่างที่ก่อให้เกิดอนุมูลอิสระ

โรคขาดเอนไซม์จี ซิกส์ พี ดีเกิดจากอะไร?

เป็นโรคที่เกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมของยีนบนโครโมโซมเพศ (โครโมโซม X) ในประเทศไทยพบโรคนี้ในผู้ชาย 15% และพบในผู้หญิงน้อยกว่าคือ 2-3%

อาการของโรคขาดเอนไซม์จี ซิกส์ พี ดี

                •  แรกเกิด ทารกอาจมีภาวะตัวเหลือง บางรายต้องได้รับการรักษาด้วยการส่องไฟหรือเปลี่ยนถ่ายเลือด

                •  หลังอายุ 1 เดือนจนถึงวัยผู้ใหญ่ เมื่อผู้ที่เป็นโรค กินถั่วปากอ้าหรือยาบางชนิด  ได้แก่ ยากลุ่มซัลฟา แอสไพริน หรือยาต้านมาลาเรีย เป็นต้น จะทำให้เม็ดเลือดแดงแตกฉับพลันได้ โดยสังเกตได้จากอาการหน้าซีด ปากซีด เหนื่อยเพลีย ปัสสาวะเป็นสีโคล่า

ภาพเม็ดเลือดแดงแตกที่เห็นจากกล้องจุลทรรศน์

แพทย์วินิจฉัยโรคจี ซิกซ์ พี ดีอย่างไร?

                •  ตรวจลักษณะเม็ดเลือดแดงแตกจากกล้องจุลทรรศน์

                •  ตรวจคัดกรองเอนไซม์จี ซิกส์ พี ดี

                •  วัดระดับเอนไซม์จี ซิกส์ พี ดี

จำเป็นต้องตรวจหรือไม่?

                •  ทารกที่มีอาการตัวเหลือง หรือผู้ที่มีอาการซีด และปัสสาวะสีโคล่า ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยทุกราย

                •  ผู้ที่มีความจำเป็นต้องได้รับยาที่ควรหลีกเลี่ยงในโรคขาดเอนไซม์จี ซิกส์ พี ดี ควรได้รับการตรวจคัดกรองเอนไซม์จี ซิกซ์ พี ดีก่อนทุกราย

                •  ผู้ที่ไม่เคยมีอาการ โดยทั่วไปไม่จำเป็นต้องตรวจ อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลบางแห่งอาจมีการตรวจคัดกรองเอนไซม์จี ซิกซ์ พี ดีในเด็กแรกเกิด เพื่อช่วยในการเฝ้าระวังภาวะตัวเหลือง

ภาพปัสสาวะสีโคล่า

โรคจี ซิกซ์ พี ดีมีวิธีรักษาให้หายขาดหรือไม่?

ไม่มีวิธีรักษาให้หายขาดเนื่องจากเป็นโรคทางพันธุกรรม และไม่จำเป็นต้องรักษาให้หายขาดเพราะในภาวะปกติจะไม่มีอาการใดๆ การป้องกันเม็ดเลือดแดงแตกด้วยการหลีกเลี่ยงอาหารหรือสารเคมีดังกล่าวข้างต้น เป็นวิธีการดูแลตัวเองที่ดีที่สุด

ข้อควรปฏิบัติของผู้เป็นโรคขาดเอนไซม์จี ซิกส์ พี ดี

                •  พกบัตรประจำตัวโรคขาดเอนไซม์จี ซิกส์ พี ดี อยู่เสมอ และยื่นให้แพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งเมื่อต้องได้รับยาใดๆ ไม่ควรซื้อยากินเอง

                •  หลีกเลี่ยงการกินถั่วปากอ้า และยาต่างๆที่อาจทำให้เม็ดเลือดแดงแตก

                •  มารดาที่ให้นมบุตร ของทารกที่มีโรคขาดเอนไซม์จี ซิกส์ พี ดีควรหลีกเลี่ยงการกินถั่วปากอ้า และยาต่างๆที่อาจทำให้เม็ดเลือดแดงแตกเช่นกัน

                •  หากมีอาการหน้าซีด ปากซีด เหนื่อยเพลีย ปัสสาวะสีโคล่า ให้รีบมาพบแพทย์

ข้อมูลจาก ผศ. พญ.เดือนธิดา ทรงเดช สาขาวิชาโลหิตวิทยาและมะเร็งวิทยา ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

นายแพทย์สุรพงศ์  อำพันวงษ์

คลิกอ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่