เมื่อวันที่ 17 ก.ค. ที่ สำนักงาน ปปง. (หัวช้าง) กรุงเทพฯ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มผู้เสียหายจากกรณีถูกหลอกลวงซื้อห้องชุดของบริษัท “เดอะ นิว คอนเซปท์ พร็อพเพอร์ตี้“ เดินทางเข้ายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมกับนายเทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการ ปปง. ให้ดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์ในคดี พร้อมติดตามความคืบหน้าและยื่นเอกสารหลักฐานเพิ่มเติม โดยมีนายสุทธิศักดิ์ สุมน ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านกฎหมาย และในฐานะรองโฆษก ปปง. เป็นตัวแทนรับเรื่อง
นายประเสริฐ (สงวนนามสกุล) ตัวแทนผู้เสียหาย กล่าวว่า คดีดังกล่าวดีเอสไอดำเนินการสอบสวนมา 2 ปีแล้ว และได้มีการเชิญผู้เสียหายไปให้ปากคำ รวมถึงมีการสอบปากคำผู้ต้องหา ซึ่งขณะนี้ผู้เสียหายมีเพียงความต้องการทราบความคืบหน้าการดำเนินการในส่วนของสำนักงาน ปปง. ว่า ได้มีการออกคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์ หรือมีการตรวจสอบเรื่องเส้นทางการเงินของกลุ่มผู้ต้องหาอย่างไรบ้าง เนื่องจากทางดีเอสไอมีการแจ้งว่าได้รายงานเรื่องรายการทรัพย์สินของกลุ่มผู้ต้องหามาทั้งสิ้น 4 เรื่องต่อ ปปง. รวมถึงจะมีระยะเวลา ขั้นตอนนานเท่าไรกว่าที่ผู้เสียหายจะได้รับการเฉลี่ยชดใช้คืน อยากให้ ปปง. สืบเรื่องเส้นทางการเงินให้ชัดเจนว่ามีการจำหน่าย จ่าย โอน ทรัพย์สินของกลุ่มผู้ต้องหาไปยังคนใกล้ชิดคนใดหรือไม่ เพราะผู้เสียหายรอมานานแล้ว หลายคนเดินทางมาไกล หลายคนเป็นวัยเกษียณ เราต้องการคำตอบกระบวนการทำงานของ ปปง. เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าเรื่องมันจะไม่หยุดชะงัก หรือหลุดไป
นายสุทธิศักดิ์ สุมน ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านกฎหมาย และในฐานะรองโฆษก ปปง. กล่าวว่า ปปง. ได้รับเรื่องมาในปี 2566 และได้มีการมอบหมายสั่งการให้เจ้าหน้าที่กองคดี 4 ดำเนินการสืบหาพยานหลักฐานเกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงิน และมูลฐานความผิดที่ชัดเจนของกลุ่มผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งขณะนี้การดำเนินการของชั้นพนักงานสอบสวน (ดีเอสไอ) ในทางอาญายังไม่แล้วเสร็จ ยังไม่มีมติสั่งฟ้องสรุปสำนวนส่งอัยการคดีพิเศษ ทำให้มูลฐานความผิดทั้งในเรื่องของฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และ พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 ยังไม่มีความชัดเจน ปปง. จึงยังไม่สามารถออกคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์ได้ เพราะในการออกคำสั่ง ย. ต้องผ่านขั้นตอนการเสนอเรื่อง พฤติการณ์ รายการทรัพย์สินต่อที่ประชุมคณะกรรมการธุรกรรม
นายสุทธิศักดิ์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ปปง. ไม่ได้ต้องรอให้ดีเอสไอสรุปสำนวนส่งฟ้องอัยการแล้วจึงค่อยดำเนินการยึดทรัพย์ แต่ ปปง. ต้องตรวจสอบมูลฐานความผิดให้ชัดเจนเช่นเดียวกัน มิเช่นนั้นจะเป็นการออกคำสั่งยึดทรัพย์โดยมิชอบ และเมื่อสรุปสำนวนส่งอัยการและศาล หากพฤติการณ์ไม่ชัดเจน ศาลอาจมีคำสั่งยกฟ้องได้ ซึ่งจะยิ่งเป็นการทำให้ผู้เสียหายเสียประโยชน์ในส่วนนี้ ยืนยันว่า ปปง. ไม่ได้ละเลยดำเนินการเรื่องมาตรการทรัพย์สินในทางแพ่ง ที่ผ่านมา ปปง. ทำตามขั้นตอนที่มีวัตถุประสงค์ชัดเจนว่าสำนวนทรัพย์สินของ ปปง. เมื่อไปถึงชั้นศาลแล้ว ศาลจะพิจารณาและมีคำสั่งให้คุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย กล่าวคือ ทรัพย์สินในคดีที่ ปปง. จะไปยึดและอายัดมานั้น ผู้เสียหายจะได้รับการชดใช้เฉลี่ยคืน
นายสุทธิศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับกระบวนการที่ผ่านมาของ ปปง. ในคดีนี้ เจ้าหน้าที่ได้มีการตรวจสอบย้อนหลังในธุรกรรมทั้งหมดของบริษัท เดอะ นิว คอนเซปท์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ทั้งพยานหลักฐาน บัญชีงบดุล การยื่นเสียภาษี และได้ให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการคัดคำพิพากษาศาลแขวงเชียงใหม่ เพื่อนำมาเป็นตัวอย่างดูว่าสาระพฤติการณ์ในคดีเช่นใดที่ศาลแขวงพิเคราะห์ว่าเข้าข่ายความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน และ พ.ร.ก.กู้ยืมเงินฯ จนนำมาสู่การเฉลี่ยทรัพย์คืนผู้เสียหายได้ นอกจากนี้ เนื่องจากบริษัทฯ มีการเปิดตั้งแต่ปี 2552 ต่อมาในปี 2560 จึงเริ่มมีการทำโครงการ และพบปัญหาที่มีผู้เสียหายรวมตัวร้องทุกข์ในปี 2564 ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องไปตรวจสอบกิจกรรมของบริษัทในทุกช่วงเวลา
รองโฆษก ปปง. กล่าวว่า ทั้งย้อนไปก่อนปี 2552 ระหว่างปี 2560-2564 และหลังปี 2564 เพราะเอกชนรายนี้เห็นได้ว่าตั้งแต่ปลายปี 2554 เป็นต้นมา มีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงนับสิบครั้ง มีการเปลี่ยนแปลงกรรมการหลายคน รวมถึงในปัจจุบันทราบว่าบริษัทฯ ได้มีการยื่นขอฟื้นฟูกิจการ ดังนั้น กรณีที่ศาลล้มละลายกลางได้นัดไต่สวนในวันที่ 30 ก.ค. นี้ ผลคำสั่งของศาล อาจจะทำให้เห็นภาพเบื้องต้นในเรื่องการจัดการทรัพย์ได้บ้าง เช่น หากศาลมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ อาจมีผลต่อทรัพย์สินต่าง ๆ ของบริษัท แต่จะไม่เกี่ยวข้องกับในส่วนของกรรมการบริษัทฯ ทั้งนี้ หากพบว่ามีความผิดตามมูลฐานจริง ปปง. จะต้องดำเนินการยึดทรัพย์อย่างแน่นอน เพื่อที่จะได้เข้าสู่กระบวนการเปิดรับคำร้องขอคุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย และประกาศลงราชกิจจานุเบกษา 90 วัน.