เมื่อวันที่ 17 ก.ค. ที่นิติเวชจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผอ.โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย พร้อมด้วย รศ.นพ.กรเกียรติ วงศ์ไพศาลสิน หัวหน้าภาควิชานิติเวชศาสตร์ และ ผอ.ศูนย์อำนวยการชันสูตรพลิกศพ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และ พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบช.น. ร่วมกันแถลงผลการชันสูตรพลิกศพเบื้องต้นของแพทย์นิติเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาด จากการชันสูตรพลิกศพร่างผู้เสียชีวิตชาวต่างชาติทั้ง 6 ราย ที่โรงแรมหรู ย่านราชประสงค์ เมื่อวานนี้
รศ.นพ.กรเกียรติ เปิดเผยว่า เราได้มีส่วนร่วมในการชันสูตรในการตรวจสถานที่ของที่เกิดเหตุ และมีการนำร่างผู้เสียชีวิตทั้งหมด มาทำการตรวจชันสูตร ที่ภาควิชา และชันสูตรศพที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยศพทั้งหมด 6 ราย ประกอบด้วย ผู้หญิง 3 ราย และ ผู้ชาย 3 ราย โดยการชันสูตรในกรณี คือ การพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล ซึ่งพบว่า 6 ร่างที่เสียชีวิต ทราบชื่อนามสกุลทั้งหมด รวมถึงเชื้อชาติที่ได้จากหลักฐานร่วมกับทางพนักงานสอบสวน ประกอบด้วย ชาวเวียดนาม 4 ราย และชาวอเมริกันอีก 2 ราย
นอกจากนี้ การพิสูจน์เรื่องระยะเวลาการเสียชีวิต โดยการชันสูตร มีการประเมินตั้งแต่ในช่วงการตรวจพื้นที่เกิดเหตุที่โรงแรม ซึ่งในเบื้องต้นที่ทางแพทย์ได้เข้าไปดูศพ ประเมินระยะเวลาการเสียชีวิตทั้งหมด 12-24 ชั่วโมง ซึ่งการประเมินได้มาจากการตรวจการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการแข็งตัวของกล้ามเนื้อในร่างกาย หรือการตกสู่เบื้องต่ำของเม็ดเลือด
ส่วนสาเหตุการเสียชีวิตของทุกราย มีการเก็บภาพหลักฐานของผู้เสียชีวิต โดยเก็บตัวอย่างเลือด และปัสสาวะเพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิต และได้ดำเนินการตรวจ ซีทีสแกน เพื่อหาร่องรอยการถูกทำร้ายหรือการบาดเจ็บ โดยเบื้องต้นไม่พบร่องรอยของการถูกทำร้าย จากการตรวจภาพฉายรังสีทั้งหมด
รศ.นพ.กรเกียรติ กล่าวอีกว่า สิ่งที่พบจากศพทั้ง 6 ร่าง มีริมฝีปากเป็นสีม่วงเข้ม ใบหน้าและการตกเลือดเป็นลักษณะพิเศษ มีการบ่งชี้ว่า อาจจะมีการเสียชีวิตในเรื่องของการขาดอากาศหายใจเกิดขึ้นร่วมด้วย คุณลักษณะที่พบอีกอย่างในการตรวจสอบ คือ การตกสู่เบื้องต่ำของเลือดพบว่า เป็นสีแดงค่อนข้างแดงสด และมีอาการคลั่งเลือดในอวัยวะภายใน ซึ่งแตกต่างจากเคสทั่วไปในการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย
ส่วนสาเหตุการเสียชีวิตของทุกราย เป็นการสันนิษฐานจากการตรวจมาจากพิษของสารอันตรายผ่านระดับเซลล์ เข้าสู่ระบบประสาท และหัวใจ เมื่อนำเลือดไปตรวจพิสูจน์คัดกรอง พบสารไซยาไนด์ และมีการนำไปตรวจย้ำอีกครั้ง เป็นผลบวก ทำให้แพทย์ตั้งข้อสันนิษฐานเบื้องต้นว่า การเสียชีวิตอาจจะมีสารพิษดังกล่าว จึงจะต้องรอผลการตรวจเลือดยืนยันอีกครั้งอย่างละเอียด อาจจะใช้ระยะเวลา 1-2 วันต่อจากนี้ ว่ามีสารพิษชนิดอื่นด้วยหรือไม่
ด้าน รศ.นพ.ฉันชาย กล่าวถึงการลำดับผู้เสียชีวิต ว่าใครเสียชีวิตก่อนหรือหลังนั้น ไม่สามารถแยกได้ เนื่องจากเราตรวจสอบจากการแข็งตัวกล้ามเนื้อ และการตกเลือด ที่บ่งบอกได้แค่ช่วงเวลาเท่านั้น แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าเสียชีวิตกี่โมง พร้อมยอมรับว่า การตามหาสารไซยาไนด์บนพื้นผิวของร่างกาย ต้องใช้ของเหลวในการสกัด แต่ครั้งนี้ทีมแพทย์ได้ใช้เลือดในร่างกายของผู้เสียชีวิตในการตรวจ
รศ.นพ.ฉันชาย อธิบายอีกว่า ปกติแล้วการรับสารพิษไซยาไนด์ หากรับในระดับ 3 มิลลิกรัมต่อ 1 CC จะเสียชีวิตทุกราย แต่กรณีนี้ต้องดูจากผลเลือดอีกครั้ง ให้คาดการณ์ตอนนี้ยังบอกไม่ได้ แต่ถ้าทำให้เสียชีวิต ต้องมีปริมาณที่สูงนิดนึงซึ่งต้องมากกว่า 3 มิลลิกรัม
ส่วนคนที่ได้รับสารไซยาไนด์ขึ้นอยู่กับปริมาณ และวิธีการนำสู่ร่างกาย เช่น การสูดดม การรับประทานมเมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วมักเกิดขึ้น เหนื่อย หอบ หมดสติ ชักเกร็ง นับเวลาเป็นนาทีได้ ล้มลง และเสียชีวิตเลย ขาดออกซิเจนเฉียบพลัน หรือบางคนได้รับปริมาณที่น้อย มีอาการ คลื่นไส้อาเจียน ใช้เวลากว่าจะเสียชีวิต
พล.ต.ต.นพศิลป์ กล่าวถึงที่มาของสารไซยาไนด์ว่า ตำรวจได้ตั้งข้อสันนิษฐานไว้ 2 ประเด็น คือเตรียมการนำเข้ามาก่อนเข้าประเทศไทย หรือหาซื้อในประเทศ ผ่านช่องทางต่างๆ ซึ่งได้สั่งการให้ตรวจสอบย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 4 ก.ค. ที่กลุ่มผู้เสียชีวิตเริ่มเดินทางเข้าประเทศไปจนถึงวันที่ 12 ก.ค. และยอมรับว่า ขณะเดินทางผ่าน ตม. ไม่สามารถตรวจหาสารเหล่านี้ได้ รวมถึงไม่สามารถยืนยันว่า ผู้ใดคือผู้นำเข้า ต้องรอการสืบสวนให้เสร็จสิ้นชัดเจนก่อน
สำหรับขั้นตอนหลังจากชันสูตรแล้ว ตำรวจจะรอรายงานผลการชันสูตรจากทางแพทย์เพื่อนำไปประกอบในสำนวน ส่วนครอบครัวที่ติดต่อมาขอรับศพ มีเพียงครอบครัวของสามีภรรยาที่เสียชีวิตที่มาสอบปากคำที่ สน.ลุมพินี ในวันนี้