กรณีปลาหมอคางดำ เอเลี่ยนสปีชีส์ ที่สร้างปัญหาให้กับระบบนิเวศ และเป็นอันตรายต่อพันธุ์ปลาพื้นถิ่นของประเทศไทย เนื่องจากจะกินทั้งไข่ และตัวอ่อนของปลาพื้นถิ่น รวมทั้งกุ้ง หอย และสัตว์น้ำอื่นๆ อีกทั้งยังขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว และอยู่ได้ในทุกสภาพน้ำ ทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย และนำเค็ม ยกเว้นในเขตทะเลลึก โดยพบการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำแล้วราว 16 จังหวัด ตั้งแต่ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ตามที่ได้เสนอข่าวมาอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น
ปิดจ๊อบ! สรุปยอดล่า ‘ปลาหมอคางดำ’ รวมกว่า 3 ตัน ดีเดย์ล่าต่อสงขลา 17 ก.ค.
เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 67 จ.สงขลา หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ทางสำนักงานประมงจังหวัดสงขลา ออกประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนและชาวประมงแจ้งพิกัดรวมทั้งภาพถ่ายในจุดที่พบการปรากฏตัวของปลาหมอคางดำ ซึ่งมีผู้แจ้งเบาะแสเข้ามาหลายราย โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.ระโนด 1 ใน 4 อำเภอ คาบสมุทรสทิงพระ มีหลายจุดที่พบปลาหมอคางดำ โดยเฉพาะบริเวณคลองพังยาง-ระวะ หมู่ 4 ต.ระวะ อ.ระโนด มีการสุ่มตรวจ และพบปลาหมอคางดำมากกว่าจุดอื่นๆ ส่วนอำเภออื่นๆ ของจังหวัดสงขลา ยังไม่มีรายงานพบปลาหมอคางดำแต่อย่างใด และวันนี้ทางจังหวัดสงขลา สำนักงานประมงจังหวัดสงขลา และประมงอำเภอระโนด องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ และเอกชน ได้ร่วมกันจัดแข่งขันจับปลาหมอคางดำ “Kick off ล่าปลาหมอคางดำ” คลองพังยาง-ระวะ หมู่ 4 ต.ระวะ อ.ระโนด จ.สงขลา โดยมี นายอภิชาติ สาราบรรณ์ รอง ผวจ.สงขลา เป็นประธาน พร้อมด้วย นายเจริญ โอมณี ประมงจังหวัดสงขลา นายสมใจ ศรีสงค์ นายก อบต.ระวะ และนายภชรพล สังขไพฑูรย์ ประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดสงขลา และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทุกคนเห็นความสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้น และร่วมกันลดจำนวนปลาหมอคางดำในพื้นที่ให้เบาบางลง
ซึ่งมีทั้งการแข่งขันแบบประเภทเดี่ยว และประเภททีม โดยไม่จำกัดเครื่องมือการจับ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมราว 30-40 คน โดยมีเวลาให้ราว 3 ชั่วโมง ก่อนที่จะนำมาชั่ง และใครได้มากมากที่สุดก็จะเป็นผู้ชนะ ได้รับเงินรางวัล และมีของรางวัลต่างๆ ให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรม นอกจากนี้ ยังมีการสาธิตทำอาหารหลากหลายเมนูจากปลาหมอคางดำ โดยมี 3 อย่างที่คนในพื้นที่นิยมรับประทาน และทำกินแล้วมีรสชาติอร่อย คือ ปลาหมอคางดำแกงส้ม ปลาหมอคางดำต้มส้มน้ำตาลโตนด และปลาหมอคางดำคลุกเกลือทอด ซึ่งปลาที่ใช้จะค่อนข้างใหญ่พอสมควรราว 4-5 ตัวโล เนื่องจากหากตัวเล็กเกินไปจะมีเนื้อน้อยกว่าปลาชนิดอื่นๆ และมีก้างเยอะกว่าปลาทั่วไปด้วย
อีกทั้งทางสำนักงานประมงจังหวัดสงขลา ยังได้ร่วมกันปล่อยปลากะพงขาวที่เป็นสายพันธุ์นักล่าในห่วงโซ่อาหารตามธรรมชาติในการจัดการกับปลาหมอคางดำ โดยในวันนี้ได้ปล่อยนำร่องที่บริเวณปากคลองพังยาง-ระวะ ไปก่อน 100 ตัว และในช่วงหลังจากนี้ก็จะปล่อยชุดใหญ่อีกครั้ง ขณะที่ก่อนหน้านี้ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ก็ได้มีการปล่อยปลาสายพันธุ์ผู้ล่าไปกว่า 4,000 ตัว แล้วด้วยใน อ.ระโนด และใกล้เคียง
นายอภิชาติ เผยว่า เกี่ยวกับเรื่องนี้ทางหวัดได้ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำมาอย่างต่อเนื่อง และราว 1 เดือน ที่ผ่านมา ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในระดับจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาเป็นประธานคณะทำงาน โดยให้เกษตรกรเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการแก้ไขปัญหา เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำระดับพื้นที่ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งขณะนี้ที่ จ.สงขลา พบแค่ใน อ.ระโนด ไม่ได้แพร่กระจายไปยังพื้นที่ใกล้เคียง โดยขอเชิญชวนให้ร่วมกันบริโภคทำอาหารกินกันภายในครัวเรือน หรือถนอมอาหารในรูปแบบต่างๆ แล้วแต่ความชอบ ซึ่งจะสามารถช่วยลดจำนวนของปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ หรือหากจะมีการรับซื้อไปทำประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ เช่น ทำเป็นปลาป่นให้อาหารสัตว์ ก็ทำได้ แต่ปริมาณอาจจะยังไม่ได้มีเป็นจำนวนมากเหมือนกับจังหวัดอื่นๆ ที่พบ ซึ่งทางจังหวัดยังคงเฝ้าติดตามสถานการณ์ และพยายามควบคุมให้อยู่ในวงที่จำกัด และต้องร่วมมือกับหลายภาคส่วน เพื่อไม่ให้ปลาหมอคางดำแพร่ระบาดไปยังอำเภออื่นๆ ข้างเคียง
นายเจริญ โอมณี ประมงจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ใน จ.สงขลา พบปลาหมอคางดำแพร่ระบาดใน 3 ตำบล ของ อ.ระโนด คือ บริเวณคลองปากระวะ-คลองท่าเข็น หมู่ 1 ต.คลองแดน, คลองปากแตระ หมู่ 1 ต.ปากแตระ และคลองพังยาง-ระวะ หมู่ 4 ต.ระวะ และมีบางส่วนในบ่อพักน้ำของเกษตรกร ซึ่งจุดที่พบมากที่สุดคือที่คลองพังยาง-ระวะ หมู่ 4 ต.ระวะ ซึ่งจากการสุ่มสำรวจโดยการทอดแหในพื้นที่คลอง 50*50 ตารางเมตร จำนวน 5 ครั้ง พบปลาหมอคางดำราว 40-50 ตัว ส่วนคลองที่เหลือพบราว 1-5 ตัว เท่านั้น
ส่วนวิธีการจัดการก็ต้องสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งส่งเสริม สนับสนุน ให้มีการบริโภคกันในครัวเรือน หรือชุมชน หรือการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบการถนอมอาหารต่างๆ ซึ่งสามารถสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง ขณะที่แนวทางป้องกัน ก่อนหน้านี้ได้มีการปล่อยปลากะพงขาวที่เป็นสายพันธุ์นักล่าไปแล้วกว่าจำนวนหนึ่งในพื้นที่คลองต่างๆ ของ อ.ระโนด รวมทั้งพื้นที่คลองชั้นใน และเร่งเพาะพันธุ์ในช่วง 3 เดือนนี้ ซึ่งน่าจะทยอยปล่อยลงคลองสายหลักและคลองสาขาต่างๆ ในพื้นที่
ส่วนเกษตรกรที่เลี้ยงกุ้งกุลาดำ กุ้งขาว หรือสัตว์น้ำอื่นๆ หากต้องสูบน้ำจากแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ควรปล่อยปลาสายพันธุ์นักล่าลงไปในบ่อพักก่อน เพื่อให้จัดการกับปลาหมอคางดำที่อาจจะเล็ดลอดปะปนเข้า ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายกับสัตว์น้ำ โดยขณะนี้ แม้จะพบการแพร่ระบาดที่เบาบางกว่าจังหวัดอื่นๆ และยังไม่มีการตั้งจุดรับซื้อ แต่ก็ต้องช่วยกันลดจำนวนปลาหมอคางดำให้ได้มากที่สุด และต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงหน้าฝนที่กำลังจะมาถึง ซึ่งหากมีการแพร่กระจายลงไปสู่ทะเลสาบสงขลา ก็อาจจะเป็นปัญหาใหญ่มากกว่านี้