เมื่อวันที่ 17 ก.ค. นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงการระบาดของปลาหมอคางดำ ซึ่งเป็นเอเลี่ยนสปีชี่ส์สัตว์น้ำรุกรานต่างถิ่นซึ่งขณะนี้ ว่าวิกฤติแล้ว เพราะระบาดมานานถึง 14 ปี ล่าสุดเริ่มระบาดเข้าไปในพื้นที่กรุงเทพฯ แล้ว นับเป็นภัยเงียบที่ทำลายสัตว์น้ำวัยอ่อนตามแนวชายฝั่ง และยังรุกรานเข้าไปยังแหล่งน้ำต่างๆ กินสัตว์น้ำวัยอ่อนจนน่าเป็นห่วงว่าอาจถึงขั้นสูญพันธุ์ได้ ตนจึงเสนอวิธีแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำระบาดอย่างเป็นระบบ ที่เชื่อว่าสามารถครอบคลุมการแก้ไขปัญหาได้จริงและรวดเร็ว 5 วิธี ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรัฐบาล
มันมาถึงทำเนียบ! ‘ปลาหมอคางดำ’ ระบาดหนักถึงหน้ารัฐบาลแล้ว
นายมงคล เผยว่า ข้อที่ 1.เสนอเป็นวาระแห่งชาติโดยต้องรวมศูนย์อำนาจสั่งการแก้ไขปัญหาระดับนโยบาย มี รองนายกรัฐมนตรี ที่ได้รับมอบอำนาจจาก นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ ในการแก้ไขปัญหา เหตุผลเพราะต้องมีการสั่งการข้ามหน่วยงานเช่นผู้ว่าฯ และหน่วยงานอื่นๆ โดย รมว.เกษตรกรฯ เป็นรองประธานฯ อธิบดีกรมประมง เป็นฝ่ายเลขาฯ และกรมประมงต้องเป็นหน่วยงานหลักในการกำหนดแผนและแนวทาง วิธีการในการแก้ไขปัญหารวมทั้งอาจต้องใช้แนวทาง ทางการทหารมาช่วยในการวางแผนด้วย
2.ออกประกาศกฎหมายผ่อนผันให้นักล่ามืออาชีพที่มีอาชีพประมงจัดการไล่ล่าปลาหมอคางดำ ด้วยเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพโดยการผ่อนผันกฎหมายให้สามารถใช้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพทำการประมงได้ในแม่น้ำ ลำคลอง หนองบึงและแนวชายฝั่งที่มีปลาหมอคางดำระบาด 3.ประสานงานกับสมาคมประมงในแต่ละจังหวัดขอความร่วมมือแจ้งให้ชาวประมงพื้นบ้านที่มีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ มาช่วยกันลงทะเบียนจับปลาหมอคางดำ โดยภาครัฐสนับสนุนงบประมาณ เช่น เติมค่าน้ำมันเชื้อเพลิงให้ และอาจชดเชยรายได้ให้ด้วย ถ้าพื้นที่ไหนมีปลาหมอคางดำน้อย ที่ไม่คุ้มกับการลงแรงไล่จับ
4.เปิดให้ชาวประมงพื้นบ้านที่ใช้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ มาลงทะเบียนกับประมงจังหวัด หรือกับสมาคมประมงจังหวัดนั้นๆ เพื่อกำกับควบคุมจำนวนชาวประมงให้มีความชัดเจน และอาจต้องทาสีแดง เขียว เหลือง เป็นสัญลักษณ์กับเรือประมงพื้นบ้านที่เข้าร่วมโครงการโดยรัฐจัดหาสีใช้ทาเรือมาสนับสนุน และ 5.วางแผนการจัดการอย่างเป็นระบบ เช่น กำหนดให้แต่ละจังหวัดเช็กแม่น้ำลำคลองที่มีในแต่ละจังหวัดว่ามีแม่น้ำ ลำคลอง แนวชายฝั่งตรงไหนบ้างที่มีปลาหมอคางดำระบาด แล้วประสานข้อมูลกับกรมประมง ในการวางแผนสั่งการให้มีการดำเนินการไล่จับโดยใช้เรือประมงและเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพอย่างเป็นระบบ ทีละคลองหรือครั้งละหลายๆ คลอง หลายๆ พื้นที่ โดยใช้เรือประมงพื้นบ้านหลายๆ ลำในแต่ละครั้ง จนปลาหมอคางดำเหลือน้อยที่สุด จึงใช้การเก็บกวาดด้วยเครื่องมือประมงชนิดอื่นๆ เข้ามาช่วย อีก 2-3 รอบ หลังจากนั้นจึงปล่อยปลานักล่าประเภทอื่นๆ จำนวนมากพอ ลงตามแม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึงต่างๆ เพื่อป้องกันและให้ไปกินลูกปลาหมอคางดำที่อาจหลงเหลืออยู่บ้าง เพื่อไม่ให้ปลาหมอคางดำมีโอกาสขยายพันธุ์ได้อีก